กรมบัญชีกลาง เพิ่มรายการยา ให้ผู้ป่วยโรคผิวหนังเรื้อรัง เพื่อให้ครอบคลุมการรักษามากขึ้น เบิกจ่ายตรงได้ เริ่ม 15 ม.ค.นี้
นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางร่วมกับสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย พิจารณาเพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินชนิดรุนแรงปานกลางและรุนแรงมาก และผู้ป่วยโรคเพมฟิกัส ซึ่งเป็นผู้ป่วยในกลุ่มโรคผิวหนังเรื้อรัง เพื่อให้ครอบคลุมการรักษาพยาบาลที่จำเป็นมากขึ้น
กรมจึงยกเลิกหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติในการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการรักษาพยาบาล สำหรับผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินชนิดรุนแรงปานกลางและรุนแรงมาก และกำหนดหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล สำหรับผู้ป่วยโรคผิวหนังเรื้อรัง (Dermatology Disease Prior Authorization :DDPA) ขึ้นใหม่
โดยผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัว สามารถใช้สิทธิเบิกจ่ายเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลในระบบเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลเท่านั้น ไม่ต้องทดรองจ่ายเงินไปก่อน ทั้งนี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2564 เป็นต้นไป โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. รายการยา Infliximab Secukinumab และ Etanercept สำหรับผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน
2. รายการยา Rituximab สำหรับผู้ป่วยโรคเพมฟิกัส (Pemphigus)
3. แพทย์ผู้ทำการรักษาหากมีแผนการใช้ยาดังกล่าวให้ดำเนินการลงทะเบียนแพทย์ผู้รักษาผู้ป่วย และส่งข้อมูลตามโปรโตคอลที่กำหนดในระบบ DDPA เพื่อขออนุมัติเบิกจ่ายค่ายา หรือขอต่ออายุการเบิกจ่ายค่ายา หรือขอหยุดการใช้ยา
4. สำหรับผู้ป่วยรายเดิมที่ได้รับการอนุมัติการใช้ยา Etanercept หรือ Infliximab สามารถใช้ยาดังกล่าวได้จนกว่าจะหยุดการรักษา
“เนื่องจากองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง และมีรายการยาชีววัตถุหรือยาสังเคราะห์มุ่งเป้าที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยในกลุ่มโรคผิวหนังเรื้อรังที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยกรมบัญชีกลางและสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย จะร่วมกันพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโรคผิวหนังเรื้อรังอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างสมเหตุผล สอดคล้องกับวิวัฒนาการทางการแพทย์ และเกิดประโยชน์ต่อผู้สิทธิหรือบุคคลในครอบครัวต่อไป” อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าว
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ