“ธนาธร” กางข้อมูลยิบ รบ.ทำสัญญาวัคซีนเจ้าเดียว ลั่นถ้าผิดพลาด “ประยุทธ์” รับผิดชอบไหวไหม?





‘ธนาธร’ จวกรัฐบาลทำสัญญาวัคซีนเจ้าเดียว ครอบคลุมประชากรแค่ 20% แถมล่าช้า ลั่นถ้าผิดพลาด ‘ประยุทธ์’ รับผิดชอบไหวไหม

เมื่อเวลา 22.15 น. วันที่ 18 ม.ค. 2564 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ออกมาไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กถึงปัญหาการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาล ระบุว่า ทำไมประเทศไทยไม่ได้รับการจัดซื้อวัคซีนที่มีการครอบคลุมจำนวนประชากรที่เหมาะสม และทำไมประเทศไทยถึงยังไม่มีการเริ่มฉีดวัคซีน นับเป็นเรื่องสำคัญเพราะปี 2564 ประเทศไทยจะพัฒนาไปทิศทางไหน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ ในโลก ซึ่งสำคัญกับชีวิตและปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ถ้าเริ่มฉีดได้เร็ว ประชาชนมีภูมิคุ้มกันหมู่ได้เร็ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือนักท่องเที่ยวจะกลับเข้ามา นักธุรกิจที่เป็นผู้นำเข้า-ส่งออก จะเริ่มกลับมาเจรจาธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง ประชาชนจะได้ใช้ชีวิตอย่างปกติ ไม่ต้องอยู่ด้วยความหวาดกลัว

นายธนาธร กล่าวอีกว่า คำถามคือทำไมขณะที่หลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีนไปแล้ว แต่ทำไมเรายังไม่มีการฉีดวัคซีนในประเทศไทย คำตอบคือรัฐบาลประมาท ไม่ได้เร่งจัดหาเจรจาเพื่อซื้อวัคซีนสำหรับคนไทยทุกคนตั้งแต่เนิ่นๆ หลายประเทศเริ่มเจรจาจัดหาตั้งแต่ไตรมาส 1 ของปีที่แล้ว หรือไตรมาส 2 ของปีที่แล้ว ส่วนของประเทศไทยกว่าจะเจรจาและหาข้อสรุปได้ก็เดือน ต.ค. 2563 ที่สำคัญคือการเจรจาเพื่อจัดซื้อวัคซีนน้อยเกินไป และอยู่ในมือของเจ้าเดียวคือ บริษัทแอสตราเซเนกา รัฐบาลยังนิ่งนอนใจ ไม่มีการเจรจาใดๆ เพิ่ม จนถึงต้นเดือน ม.ค. 2564 ก่อนมีการประกาศเพิ่มว่า จะจัดซื้อกับบริษัทซิโนแวค จากประเทศจีน อีก 2 ล้านโดส ครอบคลุมประชากรเพียง 1 ล้านคนเท่านั้น

นายธนาธร กล่าวต่อว่า เมื่อรู้สึกตัวก็สาย จะไปเจรจากับเจ้าอื่น กำลังการผลิตวัคซีนของบริษัทยาขนาดใหญ่ที่เตรียมไว้ก็ถูกจับจองไปหมดแล้ว รัฐบาลเอาปัญหาเรื่องการฉีดวัคซีนโควิด มาผนวกกับปัญหาความนิยมของรัฐบาล อยากจะใช้การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด สร้างความนิยมให้กับตัวเองเกินไป จนละเลยถึงการคิดหาทางออกที่เหมาะสม ที่ดีที่สุดให้กับประเทศ และการจัดโครงสร้างแบบนี้ ทำให้ตั้งคำถามว่า รัฐบาลพร้อมที่จะรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับการฝากอนาคตวัคซีน อนาคตของประเทศไทยไว้กับบริษัทเดียวหรือไม่

นายธนาธร กล่าวอีกว่า เรามาดูในประเทศที่ใกล้เราที่สุด คือ มาเลเซีย มีการเซ็นสัญญาซื้อวัคซีนล่วงหน้าจากบริษัทไฟเซอร์ 12.8 ล้านโดส ในวันที่ 27 พ.ย. 2563 ต่อมา 21 ธ.ค.2563 เซ็นสัญญาซื้อวัคซีน 6.4 ล้านโดส จากแอสตราเซเนกา, 22 ธ.ค. 2563 เซ็นสัญญาซื้อเพิ่มเป็นวัคซีนสปุตนิค ประเทศรัสเซีย 6.4 ล้านโดส, ม.ค. 2564 ซื้อเพิ่มจากซิโนแวค 14.2 ล้านโดส และซื้อเพิ่มจากไฟเซอร์ 12.2 ล้านโดส ครอบคลุมประชากรทั้งหมด 71%

ขณะที่ไต้หวัน เมื่อเดือน ธ.ค. 2563 ประกาศว่า ปัจจุบันสามารถจัดหาวัคซีนได้ครอบคลุมประชากร 42% ส่วน ฟิลิปปินส์ มีการเซ็นสัญญาซื้อจากแอสตราเซเนกา 2.6 ล้านโดส ในวันที่ 27 พ.ย. 2563, โคแวกซ์ 30 ล้านโดส และซิโนแวค 25 ล้านโดส ครอบคลุมประชากร 45.1%

ขณะที่ประเทศไทย วัคซีนตอนนี้ที่เจรจาได้แล้วจากแอสตราเซเนกา 26 ล้านโดส และซิโนแวค 2 ล้านโดส คิดเป็น 21.5% ของจำนวนประชากร เราจัดหาวัคซีนได้น้อยกว่า และช้ากว่าประเทศอื่นที่อยู่ในระดับการพัฒนาที่ใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2564 ครม.มีมติสั่งซื้อวัคซีนอีก 35 ล้านโดส แต่ยังไม่ได้เซ็นสัญญา

   

สำหรับประเทศอื่นได้รับวัคซีน และเริ่มฉีดแล้ว 5 อันดับที่ฉีดเยอะที่สุด ได้แก่ 1.อิสราเอล ฉีดแล้ว 2.3 ล้านโดส คิดเป็น 25.91% ตั้งเป้าว่าในไตรมาส 1 ปี 2564 จะฉีดให้ครบจำนวนประชากร, 2.สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1.9 ล้านโดส คิดเป็น 17.52%, 3.บาห์เรน 1.42 แสนโดส คิดเป็น 9.54%, 4.อังกฤษ 4.3 ล้านโดส คิดเป็น 6.45% และ5.สหรัฐอเมริกา 14 ล้านโดส คิดเป็น 4.36%

ขณะที่ประเทศไทย ปลายเดือน ก.พ. ถึงจะได้รับวัคซีนจากซิโนแวค จะเริ่มฉีดเดือน มี.ค. จำนวน เพียงแค่ 2 ล้านโดส ครอบคลุมจำนวนประชาชน 1 ล้านคน ซึ่งแน่นอนว่าต้องให้บุคลากรทางการแพทย์หรือบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงก่อน กว่าจะได้วัคซีนที่ผลิตจากแอสตราเซเนกาที่สั่งซื้อไว้ 26 ล้านโดส จะเริ่มฉีดได้คือครึ่งหลัง ปี 2564

นายธนาธร กล่าวอีกว่า ปัญหาสำคัญมี 2 ปัจจัย คือ 1.ประเทศไทยมีวัคซีนที่ครอบคลุมประชากรน้อยกว่าประเทศอื่น และ 2.ความรวดเร็วในการฉีด แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย สัปดาห์ที่แล้วเริ่มฉีดเข็มแรก เท่านั้นยังไม่พอ การฝากความหวังเจ้าใดเจ้าหนึ่งไว้เป็นการเฉพาะ ภายใต้สถานกาณ์ที่วิกฤต ไม่ใช่การตัดสินใจของผู้บริหารที่ดี ลองมาดูว่าทั่วโลกมีวัคซีนตัวหลักมีอะไรบ้าง เช่น ไฟเซอร์ แอสตราเซเนกาจากยุโรป ซิโนแวคจากจีน โมเดอร์นา และสปุตนิค และมีอีกหลายตัว เช่นจากอินเดีย ที่อยู่ระหว่างพัฒนา ประเทศส่วนใหญ่ไม่มีประเทศไหน ที่ฝากความหวังไว้กับวัคซีนตัวใดตัวหนึ่ง หรือบริษัทใดบริษัทหนึ่ง หลายประเทศจะใชัวิธีการจัดหาหลายบริษัท

นายธนาธร กล่าวต่อว่า ถ้าดูโครงสร้างการบริหารการจัดซื้อวัคซีนสำหรับคนไทยที่รัฐบาลไทยกำลังทำอยู่ รัฐบาลไทยวางการจัดหาวัคซีน โดยสนับสนุน 2 ทาง ทางแรกคือการซื้อวัคซีนจากต่างประเทศ และทางที่ 2 ผลิตเองในประเทศ สำหรับการซื้อวัคซีนจากต่างปะรเทศที่เซ็นสัญญาไว้มี 2 เจ้า คือ บริษัทแอสตราเซเนกา 26 ล้านโดส และซิโนแวค 2 ล้านโดส ซึ่งซิโนแวคมีซีพีเข้าไปถือหุ้นบริษัทที่ผลิตวัคซีน 15.03%

 

ขณะที่แอสตราเซเนกาเซ็นสัญญาซื้อขายวัคซีนล่วงหน้ากับรัฐบาล ทำสัญญาจ้างการผลิตกับสยามไบโอไซเอนซ์ มีการทำความร่วมมือผลิตกับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย โดยสัญญาจ้างผลิตกับแอสตราเซเนกา จะมีการผลิต 200 ล้านโดสต่อปี แต่ 174 ล้านโดส จะส่งไปขายในประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนอีก 26 ล้านโดสเก็บไว้แจกจ่ายในประเทศไทย

นายธนาธร กล่าวต่อว่า แอสตราเซเนกาเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ต้องการหาผู้ผลิตในหลายภูมิภาคทั่วโลก เพื่อแจกจ่ายวัคซีนของตัวเองในปริมาณที่มากที่สุด ในเวลาที่เร็วที่สุด ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พาร์ตเนอร์ของแอสตราเซเนกา คือ สยามไบโอไซเอนซ์ รวมถึงเกาหลี และบราซิล นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังสนับสนุนการผลิตวัคซีนตั้งแต่ต้นน้ำในประเทศไทย ในรูปแบบ mRNA ที่ให้คณะแพทย์ศาสตร์ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผลิตด้วยตัวเอง

สำหรับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ที่เป็นใจกลางของการผลิตวัคซีนของคนไทย ปัจจุบันมีบริษัทเกี่ยวข้องกันอยู่ 2 บริษัท คือ APEXCELA และสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่ง APEXCELA เป็นบริษัทที่ดูแลด้านการขายและการกระจายสินค้า ส่วนสยามไบโอไซเอนซ์ดูแลด้านการวิจัย การพัฒนา และการผลิต

แต่เดิมสยามไบโอไซเอนซ์มาจากความร่วมมือของบริษัททุนลดาวัลย์กับมหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งขึ้นมาในวันที่ 17 ส.ค. 2552 ด้วยทุนจดทะเบียน 4,800 ล้านบาท ขาดทุนสะสม 581 ล้านบาท ซึ่งตั้งขึ้นมาตอนแรกตั้งใจผลิตยาและลดการนำเข้ายา แต่ไม่ได้มีความมุ่งหวังที่จะผลิตวัคซีน ส่วน APEXCELA ทุนจดทะเบียน 250 ล้านบาท ขาดทุนสะสม 112.4 ล้านบาท

ซึ่งสยามไบโอไซเอนซ์มีบริษัทลูก 3 บริษัท ได้แก่ Abinis ที่สยามไบโอไซเอนซ์ ถือหุ้น 70% และมีหุ้นส่วนคือบริษัทจากคิวบาอีก 30% ก่อตั้งเมื่อปี 2559 ทุนจดทะเบียน 2,270 ล้านบาท รายได้ปีล่าสุด คือ 1.2 ล้านบาท แต่มีผลการดำเนินการขาดทุนมาตลอด

 

บริษัทที่ 2 Inno Bio Cosmed ถือหุ้น 100% โดยสยามไบโอไซเอนซ์ ก่อตั้งเมื่อ 2560 ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท มียอดขายปีล่าสุด 17 ล้านบาท ผลประกอบการตั้งแต่ก่อตั้งมาขาดทุนทุกปี และบริษัทสุดท้าย Apsalagen เป็นการร่วมทุน 51% ถือหุ้นโดยสยามไบโอไซเอนซ์ ส่วนอีก 49% ถือหุ้นโดยบริษัท ฮาเซอร์ อินเวสเมนต์ จากเยอรมนี ก่อตั้งเมื่อปี 2557 ทุนจดทะเบียน 45 ล้านบาท ขาดทุนสะสม 22.5 ล้านบาท

นายธนาธร กล่าวอีกว่า จากข้อมูลที่เราเห็น สยามไบโอไซเอนซ์และบริษัทในเครือ ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2552 ยังไม่เห็นบริษัทไหนเลยที่ประสบความสำเร็จอย่างชัดเจน ทุกบริษัทมียอดขาดทุนเกือบทั้งหมด ตั้งมา 11 ปี ขาดทุนไปแล้ว 581 ล้านบาท ซึ่งเราไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลบริษัทเหล่านี้ได้ เพราะเป็นบริษัทเอกชน

เราเข้าใจดีถึงวงจรในการผลิตยา จำเป็นจะต้องลงทุนสูง และไม่ใช่เรื่องง่ายที่ยาที่ผลิตมาจะได้รับการรับรองจากองค์กรยาในประเทศต่างๆ ดังนั้น บริษัทอาจมียาที่ยังผลิตอยู่ในมือที่รอการนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเราไม่ทราบ แต่ข้อมูลที่ผ่านมาบอกเราได้ว่า บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์และในเครือยังไม่มีบริษัทไหนประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ

นายธนาธร กล่าวต่อว่า บริษัทแอสตราเซเนกา มีสัญญาจ้างการผลิตกับสยามไบโอไซเอนซ์ ที่มีกำลังผลิตปีละ 200 ล้านโดส รัฐบาลไทยให้การสนับสนุน โครงการพัฒนาการผลิตวัคซีนแบบ Viral Vector จำนวน 1,449 ล้านบาท เพื่อให้ผลิตวัคซีนตรงนี้ได้

ในที่ประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 5 ต.ค.2563 มีกรรมการท่านหนึ่งในที่ประชุมได้ตั้งข้อสงสัยว่า มีประเด็นข้อกังวลเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เนื่องจากเป็นการนำงบประมาณจากรัฐไปสนับสนุนบริษัทเอกชน ขอให้พิจารณาดำเนินการด้วยความรอบคอบและโปร่งใส และมีความเห็นว่า สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ต้องเปิดเผยข้อมูลการขัดกันแห่งผลประโยชน์ให้ทราบด้วย

นายธนาธร กล่าวอีกว่า ตนอยากจะให้ดูไทม์ไลน์ในการจัดหาวัคซีนในประเทศไทย เมื่อต้นปีที่ผ่านมามีการอนุมัติแผนงาน เพื่อจัดหาการเข้าถึงวัคซีนในประเทศไทย โดยมีการนำเสนอแผนนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศไทย กลางปีที่ผ่านมาจนถึงไตรมาส 3 มีการทำสัญญากับบริษัทแอสตราเซเนกา เริ่มเจรจาไตรมาส 2 และจบในไตรมาส 3

แต่กว่าจะเจรจาจากมติ ศบค.ที่เห็น จนถึงเดือน มิ.ย. 2563 ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม รัฐบาลเริ่มเจรจาเดือน ก.ค. 2563 และจบการเจรจาในเดือน ต.ค. 2563 ซึ่งในมติที่ประชุมไม่มีการบอกว่าเจรจากับเจ้าใดเจ้าหนึ่งเป็นพิเศษ เพราะ 26 ล้านโดสที่เจรจากับแอสตราเซเนกา ครอบคลุม 13 ล้านคน หรือ 20% ของประชากร และซิโนแวค 2 ล้านโดส ครอบคลุมอีก 1.5% ของจำนวนประชากร เมื่อรวมกันแล้วครอบคลุมเพียง 21.5% ของจำนวนประชากร

นายธนาธร กล่าวอีกว่า จากไทม์ไลน์ที่เห็นคือเมื่อเจรจากับแอสตราเซเนกาจบ ในมติรายงานการประชุมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่มีการแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลพยายามเจรจาเพื่อจัดหาวัคซีนให้ครบจำนวนประชากรที่มากกว่า 20% จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่าทำไมรัฐบาลทำเช่นนั้น ถ้าย้อนเวลากลับไปดูไตรมาสที่ 3 เมื่อปีที่แล้วมีการเริ่มการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน เพื่อเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

นายธนาธร กล่าวต่อว่า นำไปสู่ข้อสงสัยว่า การที่เราแทงม้าตัวเดียว หรือการที่เราพึ่งพาโครงสร้างแบบเดียวในการจัดหาวัคซีนให้กับประชาชนคนไทยเป็นการกระทำที่เหมาะสมหรือไม่ เป็นการกระทำของฝ่ายบริหารที่เหมาะสมหรือไม่ การกระทำครั้งนี้เพื่อสร้างความนิยมทางการเมืองมากกว่าที่ต้องการหาข้อสรุปในการจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุมสำหรับคนไทย ให้ได้ครอบคลุมมากที่สุดและเร็วที่สุดหรือไม่ ตกลงเป็นเรื่องความนิยมทางการเมือง หรือเป็นเรื่องของการดูแลเอาใจใส่ประชาชน

ถ้าย้อนกลับมาดูไตรมาส 1 เมื่อปีที่แล้ว มีการอนุมัติแผนนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศไทย 2563-2565 บริษัทแอสตราเซเนกาเป็นบริษัทต่างประเทศจึงไม่ได้อยู่ในแผนนี้ แต่ที่น่าสนใจคือชื่อของสยามไบโอไซเอนซ์ไม่ได้อยู่ในแผนนี้ แต่โผล่ขึ้นมาปลายไตรมาส 2 และต้นไตรมาส 3

ส่วนต้นปี 2563 ที่มีการทำแผนนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศไทย 2563-2565 ในแผนนี้ระบุชื่อองค์กร ซึ่งบ่งบอกว่าเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพ เป็นองค์กรที่ต้องพัฒนาต่อ เพื่อให้เกิดความมั่นคงของวัคซีนในประเทศ จำนวน 7 องค์กร ได้แก่

1.สถานเสาวภา สภากาชาดไทย 2.บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด 3.องค์การเภสัชกรรม 4.บริษัทร่วมทุนระหว่างองค์การเภสัชกรรม และบริษัท เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด 5.ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล 6.โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ7.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ โดยไม่ปรากฏชื่อสยามไบโอไซเอนซ์อยู่ในนั้น

“ตกลงดีลยาวัคซีนที่ทำกับแอสตราเซเนกา เป็นการฝากอนาคตของประเทศไทยไว้กับแอสตราเซเนกาและสยามไบโอไซเอนซ์มากเกินไปหรือไม่ การเจรจาเช่นนี้ทำให้เราตัดโอกาสการพิจารณาทางเลือกอื่นๆ เพื่อจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรมากที่สุด และให้ประชากรได้รับการฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุดหรือไม่”

นายธนาธร กล่าวอีกว่า ทั้งหมดนำมาซึ่งคำถามสุดท้ายว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯ อนุมัติดีลแบบนี้ขึ้น ถ้ามีอะไรผิดพลาด พล.อ.ประยุทธ์ จะรับผิดชอบได้หรือไม่ ถ้าเกิดวัคซีนผลิตช้ากว่ากำหนดเวลา ถ้าการผลิตวัคซีนมีปัญหาในการแจกจ่ายกับประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม ถ้าประชาชนเกิดอาการแพ้วัคซีน หรือวัคซีนมีประสิทธิภาพไม่ได้ตามเป้าหมาย พล.อ.ประยุทธ์ จะรับผิดชอบไหวหรือไม่ เพราะประชาชนย่อมจะตั้งคำถามกับสยามไบโอไซเอนซ์

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: