บินไทย จ่อปลดนักบิน 400 คน พร้อมหั่นเงินเดือน20% อึ้ง แผนฟื้นฟูฯ เตรียมซื้อโบอิ้ง 787 อีก 10 ลำ มูลค่าหลายหมื่นล้าน หวั่นกรุยทางฮุบสินบน
วันที่ 5 ก.พ.64 รายงานข่าวจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแผนการปรับลดค่าใช้จ่าย ตามแผนฟื้นฟูกิจการว่า การปรับลดขนาดฝูงบินให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ของผู้โดยสารในปัจจุบัน เป็นหนึ่งในแผนการปรับลดค่าใช้จ่ายที่สำคัญของบริษัทฯ ล่าสุดได้ข้อยุติแล้ว และได้ชี้แจ้งรายละเอียดทั้งหมดให้นักบินรับทราบแล้ว
โดยบริษัทฯตัดสินใจที่จะปลดระวางหรือเลิกใช้ เครื่องบิน 3 ประเภท คือ แอร์บัส A-330-300,แอร์บัส 380 , โบอิง 747 โดยจะเก็บเครื่องบินโบอิ้ง 777-300ER ,โบอิ้ง 787 และแอร์บัส 350-900 ไว้ใช้ในการทำการบินเท่านั้น
“การปรับลดฝูงบินครั้งนี้ส่งผลกระทบโดยตรง ต่อนักบินที่ทำการบินเครื่องบิน 3 ประเภท รวมประมาณ 395 คน จะต้องถูกปลดออก หรือ ขอให้เข้าร่วมโครงการสมัครใจลาออกก่อนกำหนด โดยเฉพาะนักบินที่มีอายุเกินกว่า 52 ปี บริษัทฯมีคำแนะนำให้สมัครใจลาออก โดยจะอนุมัติให้ออกตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. หรือ พ.ค. นี้ ซึ่งจะทำให้มีนักบินเหลือที่จะปฏิบัติงานรวม 905 คน จากปัจจุบันที่มีนักบินรวม 1,300 คน และในช่วงปี 2564-2565 จะไม่มีการเพิ่มจำนวนนักบิน”
รายงานข่าวแจ้งว่าในวันที่ 21 ก.พ. 64 บริษัทฯจะประกาศรายชื่อนักบินที่บริษัทเลือกให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อ จำนวน 905 คน โดยจะใช้เกณฑ์ในการประเมินและคัดเลือกโดยพิจารณาจากประสิทธิภาพการทำงานด้านต่างๆ คือประสิทธิภาพในการสั่งน้ำมันเพื่อทำการบิน ,จำนวนวันที่ขอลาหยุด, การมีอุบัติการณ์ และการสมัครเข้าช่วยงานบริษัท โดยจะไม่มีการพิจารณาเรื่องของความอาวุโสของอายุงาน
นอกจากนี้ บริษัทฯจะทำปรับโครงสร้างเงินเดือนของนักบินใหม่ทั้งหมด โดยจะปรับลดอัตราเงินเดือนลง 15-20% ตามตลาดความต้องการนักบินทั่วโลกที่ปรับลดลง หลังจากอุตสาหกรรมการบินซบเซาจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยบริษัทฯจะให้นักบินทั้ง 905 คนที่ทำสัญญาจ้างฉบับใหม่
รายงานข่าวแจ้งว่าแผนการปรับโครงสร้างฝูงบินครั้งนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนที่จะจัดหาเครื่องบินโบอิ้ง 787 จำนวน 9-10 ลำ พร้อมเครื่องยนต์โรลส์รอยซ์รุ่น Trent-1000 มูลค่าอีกหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากเครื่องยนต์รุ่นดังกล่าวมีปัญหาใบพัดอัดอากาศเสี่ยงต่อต่อการแตกร้าว ซึ่งการบินไทยเคยประสบปัญหาดังกล่าวมาแล้วในอดีต ทำให้ต้องจอดเครื่องบินรอซ่อมเครื่องยนต์เป็นเวลานานจนสูญเสียประโยชน์ในการทำการบิน รวมทั้งที่ผ่านมาสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐ(เอฟเอเอ) ยังได้ออกคำเตือนความเสี่ยงในการใช้เครื่องยนต์ประเภทดังกล่าวด้วย
“ไม่เข้าใจว่าทำไมการบินไทยจะซื้อเครื่องบิน โบอิ้ง 787 เพิ่มอีก 10 ลำ พร้อมเครื่องยนต์โรลส์รอยซ์รุ่น Trent-1000 เพราะเป็นเครื่องที่มีปัญหาไปทั่วโลก มีการผูกขาดหลังการขายต้องซ่อมในศูนย์ซ่อมโรลส์รอยซ์และยังต้องจ่ายค่าใช้โปรแกรมเครื่องยนต์อีก ถือว่าเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้บริษัทมาก ขัดแย้งกับแผนฟื้นฟูที่ต้องเร่งลดค่าใช้จ่าย ที่ สำคัญในอดีตเครื่องยนต์ยี่ห้อนี้ยังมีข้อครหาเรื่องสินบนมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นอยากให้ผู้ทำแผนชี้แจงถึงความจำเป็นในการซื้อเครื่องใหม่ด้วยว่ามีเหตุผลอย่างไร รวมทั้งชี้แจงเหตุผลการสั่งปลดเครื่องบินแอร์บัส A-330-300 จำนวน 15 ลำ ทั้งๆที่ผ่อนหมดแล้ว และยังเหลืออายุการใช้งานอีกอย่างน้อย 5 ปี เป็นอย่างน้อย”
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ