ครม. มีมติเห็นชอบจ่ายค่าตรวจ “โควิด” ให้พนักงานรัฐวิสาหกิจ คู่สมรส บุตร ทั้งค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ด้วย
วันนี้ (16 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ประจำวันที่ 16 มีนาคม 2564 ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการ ร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องหลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาล “โควิด” กรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน โรคติดต่ออันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัศโคโรนา 2019 โดยมีสาระสำคัญและรายละเอียด ดังนี้
1. ช่วยจ่ายกรณีตรวจ “โควิด” และค่ารักษาต่อเนื่อง
กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิที่จะได้รับค่าใช้จ่าย จากการตรวจหาเชื้อโควิดทางห้องปฏิบัติการ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ สำหรับตนเอง คู่สมรส หรือบุตร ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ทางกระทรวงสาธารณสุขกำหนด
และในกรณีที่มีผลการตรวจยืนยันว่าไม่ติดเชื้อโควิด แต่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ก็ให้ใช้ประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ หลักเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาพยาบาล กรณีประสบอันตราย เจ็บป่วย อันเนื่องด้วยไม่ใช่จากการทำงานมาบังคับใช้
2. ช่วยจ่าย กรณีเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินจากโรค “โควิด”
นอกจากนี้ มีการกำหนดสิทธิให้ได้รับค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลสำหรับตนเอง คู่สมรส หรือบุตร กรณีได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินจากโรคติดต่ออันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ
3. ถ้าปฏิเสธการรักษา/ย้ายไป รพ.อื่น ต้องจ่ายเอง!
กำหนดให้กรณีลูกจ้าง คู่สมรส หรือบุตร หรือญาติ ปฏิเสธการส่งตัวผู้ป่วย “โควิด” ไปรับการรักษาที่สถานพยาบาลอื่น อันนี้ผู้ป่วยจะต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นเอง
4. ร่างประกาศฉบับนี้ ช่วยให้ความคุ้มครองที่มากขึ้น
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานก็ได้จัดทำงบประมาณในการสูญเสียรายได้ของภาครัฐ พบว่าตามที่ได้ประมาณการรายจ่ายค่ารักษาพยาบาล กรณีโควิด-19 ของแต่ละรัฐวิสาหกิจ ในปี 2564 จำนวน 6,230 ล้านบาทนั้น คาดว่าจะไม่เพิ่มขึ้นจากเดิม และร่างประกาศฉบับนี้ก็จะส่งผลให้พนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่มีจำนวนกว่า 285,000 คน ได้รับความคุ้มครอง และทำให้สถานพยาบาลได้รับค่าใช้จ่ายจากรัฐวิสาหกิจโดยตรงและรวดเร็วขึ้น
——————-
ที่มา : มติ ครม. 16 มี.ค.64 ไทยคู่ฟ้า
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ