“พล.อ.ประยุทธ์” ฉุน ยอดติดเชื้อโควิด-19 พุ่ง หวังช่วงสงกรานต์จะมีความสุข แต่ก็เกิดขึ้นมาอีกจนได้ อัด คนไม่มีจิตสำนึกรับผิดชอบ ถอนหายใจประเทศไทยปัญหาจุกจิกเยอะ
เมื่อเวลาประมาณ 09.30 น. วันที่ 5 เม.ย. 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ให้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่ได้รับการเลือกตั้งใหม่ เพื่อบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ
โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ว่า ขอแสดงความยินดีกับนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดทุกคนที่ได้รับความไว้วางใจได้รับการเลือกตั้งเข้ามา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะทำได้อย่างที่ได้หาเสียงไว้ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ซึ่งจะต้องขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กับรัฐบาล ส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ให้ระดับฐานรากเกิดความเข้มแข็ง
ทั้งนี้ ในช่วงหนึ่งนายกรัฐมนตรีระบุถึงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า พูดกันมาเป็น 1-2 ปี และก็ทำกันมาด้วยดี ถือว่าดีมากเป็นลำดับต้นๆ ของโลก และต้องทำให้ดีกว่านี้ ในเมื่อส่วนราชการ รัฐบาล ช่วยกันทำอย่างเต็มที่แล้ว ประชาชนจำนวนมากที่มีความแตกต่างทางความคิด ความยับยั้งชั่งใจ หรือความสนุกสนานเลยเถิด นี่คือคน คือมนุษย์ ที่เรียกว่าคน คือเหมือนเอาทุกอย่างมาคนอยู่ในโถ มันจะยุ่งไปหมด เพราะทุกคนต่างมีความคิด แต่เราจะทำอย่างไรให้ความคิดไปในแนวทางที่สร้างสรรค์ ไม่ขัดแย้ง นั่นคือศักยภาพคนของเรา ของประเทศไทย คนไทยควรจะต้องเป็นแบบนี้ ถ้ามีความขัดแย้งก็แก้ไขปัญหากันไปในช่องทางที่มีอยู่ ไม่ใช่ช่องทางที่ไม่ควรจะใช้ ทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมาอีกมาก เช่น การติดเชื้อโควิด-19 เรามีมาตรการที่ดีแต่ยังไม่ 100%
“รัฐบาลก็หวังว่าช่วงสงกรานต์จะมีความสุข มันก็เกิดขึ้นมาอีกจนได้ นี่คือคน ต่อให้เรามีมาตรการอะไรก็ตาม ถ้าคนยังไม่ปฏิบัติตาม ยังไม่มีจิตสำนึกในความรับผิดชอบร่วมกัน มันก็จะเป็นแบบนี้แหละ นี่คือสิ่งที่มันควรจะเกิดขึ้นในช่วงนี้มากกว่านะ ในช่วงที่รวมพลังไทยทั้งชาติ ทำอย่างไรให้ประเทศชาติปลอดภัยจากทุกข์ภัยทุกเรื่อง หลายๆ เรื่องหลายๆ คนก็โทษกันมา โทษรัฐบาลไม่ว่าจะรัฐบาลไหน รัฐบาลโน้นรัฐบาลนี้
เรื่องอุบัติเหตุ การเสียชีวิต การเสียทรัพย์สิน ก็โทษแต่เจ้าหน้าที่อยู่นั่นแหละ ใช่ เขามีหน้าที่ในการช่วยเหลือดูแลในเรื่องติดตามการบังคับใช้กฎหมาย แต่มันมีการเล็ดลอดทุกอย่าง มาตรการทุกอย่างมันจะต้องฝืน จะต้องฝ่า จะต้องทำ เพราะอะไรครับ จิตสำนึก ทุกอย่างมันจะแก้ด้วยตัวนี้ แก้ด้วยความว่าเรามีจิตสำนึกที่จะร่วมมือแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร ต่อให้ออกกฎหมายมากี่ตัวก็ตาม ต่อให้มีกฎระเบียบ มีคนคุม การบังคับใช้กฎหมายรุนแรงเท่าไรก็ตาม มันก็ทำไม่ได้หรอก ถ้าเรายังรวมใจคนไทยทั้งชาติไม่ได้ ด้วยแรงศรัทธา ด้วยความรักประเทศชาติ”
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อไปอีกว่า เราทุกคนรู้อยู่แล้วว่าการเปลี่ยนแปลงทางภาวระเศรษฐกิจมันเกิดหลายอย่างด้วยกัน วันนี้เราต้องเดินหน้าไปสู่วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) เพื่อปรับวิธีคิดรองรับการเปลี่ยนแปลง เรากำลังคิด กำลังจะทำ กำลังจะเดินหน้า แต่ก็มีคนบางคนบอกจะทำไหวหรือ ทำไมต้องบ่นอทำลายกับแบบนี้ ทำไมต้องทำลายขวัญเจ้าหน้าที่ ทำลายพวกเราด้วย
ในเมื่อเราคือกลไกในการทำงานในเรื่องเหล่านี้ ทำไมไม่ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ทุกอย่างมีการพัฒนามาตามลำดับ มีอะไรเปลี่ยนแปลงทุกวัน ต้องช่วยกันหาให้เจอ อะไรช้าก็ทำให้เร็วขึ้น ทั้งนี้ โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจทุกประเทศตกต่ำทั้งหมด ถ้ามองแต่ใกล้ตัวก็จะเจอแต่ปัญหาของเรา โดยไม่รู้ว่าจะแก้ได้อย่างไร เพราะติดปัญหาตรงนี้ ทำอย่างไรจะมีเงินแจก มีเงินให้ มีเงินช่วย คิดอยู่แค่นี้ก็ได้แค่นี้ ต้องคิดกว้างกว่านี้ เหมือนที่รัฐบาลคิดว่าจะทยอยดูแลอย่างไร แต่ขณะเดียวกันต้องสร้างความเข้มแข็งไปด้วย ปัญหาต่างๆ รวมถึงโควิด-19 ก็จะลดลง เศรษฐกิจก็เดินได้อยู่ได้แม้ต่างชาติจะลดลง
“เรามีโอกาสมากกว่าเขาเยอะ ผมเจอเอกอัครราชทูต เจอผู้นำประเทศหลายระดับที่ผ่านมา เขารักประเทศไทยทั้งสิ้น เขาสงสัยอยู่เหมือนกันว่าทำไมในประเทศไทยมันยุ่งกันหนักหนา เขาสงสัยมาตลอด ผมบอกไม่เป็นไรหรอก ประเทศไทยก็เป็นอย่างนี้แหละ เฮ้อ (ถอนหายใจ) ก็เป็นแบบนี้ ว่างๆ ก็ต่อยตีกันซะหน่อย ไม่อย่างนั้นมันเงียบเหงาเกินไป
ผมก็ไม่รู้จะตอบเขาว่าอย่างไร เขาบอกทำไมประเทศไทยในความสำคัญกับเรื่องหลายเรื่องที่ไม่จำเป็น เขาถามผมแบบนี้เลยนะ ประเทศเขาปัญหาเยอะกว่าเรามาก แต่เขาเห็นว่าเราสนใจกับปัญหาที่มันจุกจิก จนทำให้เราเดินไปไม่ได้ หรือเดินไปได้ช้า ผมไม่โทษใคร โทษใครไม่ได้ เราต้องไปด้วยกัน อย่างดีผมก็โทษตัวเองแค่นั้นเอง”
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ยังระบุว่า ต้องมีการเตรียมความพร้อม จะรอโควิด-19 หมดแล้วมาเริ่มกันใหม่ไม่ได้ และสังคมครอบครัวของไทยเป็นเรื่องที่หลายประเทศอิจฉาเรา หลายประเทศไม่มีความผูกพันต่อไปหลังลูกอายุ 18-20 ปี ออกจากบ้านหมด ต่างคนต่างมีชีวิตอยู่ ของเรากลับบ้านตลอดในช่วงวันหยุดต่างๆ เราต้องรักษาสังคมนี้ให้ได้ มีความกังวลในเรื่องนี้ อย่าให้ตรงนี้แตกแยกไปเด็ดขาด.
ข่าวจาก : ไทยรัฐออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ