สปสช.ยืนยันกลุ่มเสี่ยงโควิด ตรวจได้ทั้ง รพ.รัฐ-เอกชน เตรียม รพ.สนามรับ





สปสช.ย้ำกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 ไปรับการตรวจคัดกรองได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนทุกแห่ง ส่วนกรณีโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งประกาศงดให้บริการตรวจนั้น จากการหารือกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชนจะกลับมาให้บริการตั้งแต่เช้าวันที่ 9 เม.ย.

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีที่โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งออกมาประกาศงดให้บริการตรวจคัดกรองโควิด-19 ในช่วงวันที่ 8-9 เม.ย.2564 ว่า เท่าที่ตรวจสอบกับนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ได้รับคำตอบว่าเรื่องอัตราค่าใช้จ่ายที่ สปสช.จ่ายชดเชยให้โรงพยาบาลเอกชนนั้นไม่ใช่ประเด็น แต่ที่มีปัญหาคือเรื่อง 1.น้ำยา เนื่องจากมีผู้ไปรับการตรวจค่อนข้างมาก 2.ถ้าตรวจพบว่ามีการติดโควิด-19 จะมีปัญหาเรื่องเตียงไม่พอ ทำให้ไม่กล้าตรวจ เพราะตรวจแล้วต้องหาเตียงด้วย

อย่างไรก็ตาม สปสช.ยังยืนยันว่าประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อ ยังคงไปรับบริการตรวจคัดกรองที่สถานพยาบาลทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชนฟรี และจากการหารือกับนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนก็ยืนยันว่าได้เริ่มกลับมาให้บริการตรวจคัดกรองตั้งแต่เช้าวันที่ 9 เม.ย. 2564 แล้ว เรื่องน้ำยาตรวจไม่เป็นประเด็นปัญหาแล้ว ส่วนเรื่องเตียง ในช่วงนี้ก็จะมีการเตรียมการหาโรงพยาบาลสนามในหลายๆ รูปแบบเข้ามารองรับ

“นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนยืนยันว่าเริ่มกลับมาตรวจแล้วตั้งแต่เช้านี้เป็นต้นไป เข้าใจว่าเรื่องน้ำยาไม่เป็นประเด็นแล้ว ส่วนเรื่องเตียง ทางรัฐก็ทำงานกับเอกชนเพื่อเตรียมโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติม อาจจะแปลงสถานที่ราชการหรือโรงแรมบางแห่ง เพราะหลายคนที่ติดเชื้ออาการไม่หนัก สามารถใช้โรงพยาบาลสนามได้” นพ.จเด็จ กล่าว

เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การจ่ายค่าบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติซึ่งเป็นบทบาทของ สปสช.นั้น สปสช.จ่ายให้ทั้งรัฐและเอกชนเพราะเชื่อว่าใครมีทรัพยากร มีเตียง ก็เอามาแชร์กัน ยิ่งตอนนี้คือภาวะความเป็นความตายของประเทศ ไม่แบ่งรัฐและเอกชน ใครมีแรงต้องช่วยกันให้ประเทศรอด

“ที่โรงพยาบาลเอกชนประกาศงดตรวจ ทราบว่าโรงพยาบาลมีเตียงไม่พอเลยไม่กล้าทำ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขจะช่วยดูแล แต่โดยหลักการแล้วถ้าตรวจเจอ โรงพยาบาลก็ต้องรับไว้ดูแล เพราะหากปล่อยกลับอาจเสี่ยงไปแพร่กระจายเชื้อให้คนอื่นๆต่อ โรงพยาบาลอาจรับเป็นผู้ป่วยในหรือจัดรถไปส่งที่ Hospitel ก็ได้หากติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ ส่วนเรื่องค่าใช้จ่าย เราจ่ายตามกลุ่มเสี่ยงที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดเป็นรายเคส ตรวจเสร็จเราจ่ายให้ หรือถ้าไม่แน่ใจว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ เราก็เปิดช่องให้ก็ไปหารือแพทย์ ถ้าแพทย์เห็นว่าเสี่ยงเราก็จ่ายให้เช่นกัน” นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ ย้ำว่า ประชาชนไม่ต้องห่วงเรื่องค่าตรวจหรือค่ารักษา เพราะ สปสช.ให้ไม่ว่าจะไปตรวจกับหน่วยบริการของรัฐหรือเอกชน ดังนั้นอยากให้ตรวจเยอะๆ ถ้ามีความเสี่ยงตามที่กำหนดสามารถไปตรวจได้เลย ไม่มีค่าใช้จ่าย ยิ่งตอนนี้ยิ่งต้องร่วมมือกัน ถ้าตรวจมาก ก็ยิ่งควบคุมการระบาดได้เร็ว

“ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพตัวเองด้วยการใส่หน้ากาก ล้างมือและเว้นระยะห่าง แต่ถ้าไปในพื้นที่เสี่ยงและสงสัยว่าสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ยังไงก็ต้องได้ตรวจ สามารถไปรับบริการได้ทั้งรัฐและเอกชน หรือโทรไปสอบถามเพื่อความมั่นใจก่อนก็ได้ ถ้าตรวจพบว่ามีการติดเชื้อก็สามารถรับการรักษาตามที่โรงพยาบาลจะจัดให้ ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายไม่ใช่อุปสรรคแต่อย่างใด” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

อนึ่ง ตามประกาศ สปสช. เรื่อง การขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2564 (ฉบับแก้ไขและเพิ่มเติม) กำหนดอัตราจ่ายค่าบริการให้แก่โรงพยาบาลทั้งการตรวจและการรักษา รวมไปถึงค่าที่พักอื่นๆ เช่น โรงพยาบาลสนามหรือ Hospitel โดยค่าตรวจแบบ RT-PCR จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,600 บาท/ครั้ง ค่าเก็บตัวอย่างส่งตรวจ 100 บาท/ครั้ง ค่าบริการอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการตรวจ 600 บาท/ครั้ง, ค่ายารักษาผู้ป่วยใน จ่ายตามจริงไม่เกิน 7,200 บาท/ราย, ค่าห้องดูแลการรักษา จ่ายตามจริงไม่เกิน 2,500 บาท/วัน, ค่าหอผู้ป่วยเฉพาะโควิด-19 และสถานกักกันในโรงพยาบาล (Hospitel) จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,500 บาท/วัน

 

ข่าวจาก : Khaosod Online

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: