จากกรณีที่ผู้ป่วยโควิด-19 หลายราย กำลังประสบปัญหา ถูกปฏิเสธการเข้ารับการรักษา เนื่องจากเตียงรองรับผู้ป่วยไม่เพียงพอ ล่าสุด เปิดสายด่วน 1330 ช่วยประสาน “จัดหาเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด” พร้อมบริหารจัดการผู้ป่วยใหม่
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ในรอบนี้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และเนื่องจากมีจำนวนผู้ไปรับการตรวจมากขึ้น ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาโรงพยาบาลหลายแห่งอาจเกิดความกังวล เพราะเมื่อตรวจพบผู้ติดเชื้อแล้ว โรงพยาบาลจะต้องรับคนๆ นั้นเข้าเป็นผู้ป่วยในการดูแลของตัวเอง ทำให้โรงพยาบาลบางแห่งเกิดความกังวล อาจไม่กล้าตรวจเพราะเกรงว่าถ้าตรวจเจอเชื้อแล้วจะไม่มีเตียงรองรับเพียงพอ
ประกอบกับ สายด่วนกรมการแพทย์ 1668 ประสานช่วยผู้ติดเชื้อที่ยังหาเตียงรักษาไม่ได้ แต่สายด่วน 1668 อาจจะไม่พอรองรับเช่นเดียวกัน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบให้ กรมการแพทย์ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน และ สปสช. จัดระบบรองรับโดยจะให้สายด่วน 1330 ของ สปสช. ร่วมเป็นหน่วยประสานจัดหาเตียงให้แก่ผู้ป่วยที่ไม่มีเตียงในโรงพยาบาลรองรับ
ซึ่ง สปสช.ได้หารือกับ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ในการช่วยดำเนินการดังกล่าวแล้ว โดยทางกรมการแพทย์จะส่งจำนวนเตียงว่างทั้งในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามมาให้ สปสช. เพื่อช่วยประสานจัดหาเตียงรองรับผู้ป่วยต่อไป
โดยการบริหารจัดการยกตัวอย่าง เช่น
1.นาย A ไปรับการตรวจที่โรงพยาบาล B แล้วตรวจพบว่ามีเชื้อโควิด-19 แต่ปรากฎว่าโรงพยาบาล B ในขณะนั้นมีผู้ป่วยโควิดจำนวนมากจนเตียงเต็มหมดแล้ว ทำให้ไม่มีเตียงสำหรับนาย A ในโรงพยาบาลนั้น
2.ทางพยาบาลของโรงพยาบาลสามารถโทรเข้าสายด่วนกรมการแพทย์ 1668 ได้ หรือหากสายไม่ว่างเนื่องจากคู่สายเต็ม ก็สามารถโทรมาที่สายด่วน สปสช. 1330 ได้
3. สปสช. ประสานจัดหาเตียงในโรงพยาบาลอื่นๆ แก่นาย A ได้เลย และเมื่อ 1330 หาเตียงได้แล้ว ในขั้นตอนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลปลายทาง ก็จะมีรถพยาบาลของ สพฉ. มาช่วยรับส่งให้ โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปด้วยตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ป่วยที่ก่อนหน้านี้ไปตรวจแล้วพบว่าติดเชื้อโควิด-19 แต่ รพ.ที่ไปตรวจเตียงเต็ม ส่วนหนึ่งมีกลุ่มที่ไม่มีอาการ ก็สามารถโทรศัพท์ประสานมาที่สายด่วน สปสช. 1330 ได้เช่นกัน
” สายด่วน 1330 ได้เริ่มดำเนินการจัดหาเตียงแก่ผู้ป่วยโควิดตั้งแต่วานนี้ (10 เม.ย. 2564) เป็นต้นไป ดังนั้น โรงพยาบาลที่ประสบปัญหาเตียงไม่พอสามารถติดต่อประสานงานเข้ามาได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงประชาชนที่ตรวจแล้วพบเชื้อแต่มีปัญหายังไม่ได้รับการรักษาด้วยเช่นกัน “
นอกจากนี้ สปสช.ขอย้ำอีกครั้งว่าผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง มีอาการป่วย มีประวัติสัมผัสผู้ติดเชื้อ เดินทางไปสถานที่ที่มีการระบาด หรือแม้แต่ไม่มีอาการป่วยและไม่แน่ใจว่าติดเชื้อหรือไม่ สามารถเดินทางไปรับการตรวจคัดกรองหรือปรึกษาแพทย์ได้ทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น สปสช.จะจ่ายแทนประชาชนให้เอง รวมทั้งหากพบว่าติดเชื้อ สปสช.ก็จ่ายค่ารักษาให้เช่นกัน
ข่าวจาก PPTVHD36
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ