ประยุทธ์ โชว์มีวัคซีนไฟเซอร์อีก 10 ล้านโดส เตรียมฉีด 1 พ.ค.





นายกรัฐมนตรี เผยมีวัคซีนในสต๊อก 2 ล้านโดส สั่งการให้ทุกจังหวัดเร่งฉีดวัคซีนตามแผน เปิดให้ประชาชนลงทะเบียน “หมอพร้อม” 1 พฤษภาคม ยันโรงพยาบาลสนามมีมากพอ-ไม่พอต้องเปิดเพิ่ม

วอน ปชช.เข้าใจข้อจำกัด รพ.รัฐ-เอกชน ต้องกันที่ให้ผู้ป่วยโรคอื่น แย้มวัคซีนไฟเซอร์ 5-10 ล้านโดส จ่อถึงไทย ก.ค.นี้อยู่ระหว่างขอใบเสนอราคา ถกทีมเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ทุกท่านคงทราบดีอยู่แล้วว่า วันนี้รัฐบาลมีการยกระดับมาตรการป้องกันการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ เราจะต้องพิจารณาในช่วง 2 สัปดาห์นี้ให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว ว่ากราฟตกหรือไม่ตก กระเตื้องขึ้นหรือไม่ อยู่ในขั้นตอนการพิจารณา

เรามีทั้งจังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด 18 จังหวัด พื้นที่ควบคุม 59 จังหวัด เรายกระดับมาตรการ 18 เมษายน 2564 ได้บูรณาการร่วมกันระหว่าง พลเรือน ตำรวจ ทหาร ดำเนินการอย่างเต็มที่ ขอขอบคุณประชาชนทุกคนที่มีส่วนให้ความร่วมมือด้วยความเข้าใจ ตอบสนองนโยบายภาครัฐที่ออกไป รวมถึงภาครัฐและเอกชน

ตอบสนองนำเข้าวัคซีนเพิ่ม
ส่วนกระแสโซเชียลมีเดียที่โจมตีรัฐบาล อยากให้เอกชนนำเข้าวัคซีน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนก็ตอบสนองแล้ว ไม่ใช่ตนไม่ทำ เพราะได้ให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาดำเนินการมาตลอด แต่อยากให้เกิดความชัดเจน จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุดหนึ่งโดยมี นพ.ปิยสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน ได้หารือกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน

และผู้รู้ทั้งหลายเพื่อให้ข้อมูลตรงนี้ ว่าจะดำเนินการให้ได้วัคซีนทางเลือกเข้ามาในประเทศไทยได้อย่างไร เพราะวัคซีนผลิตโดยบริษัทเอกชน เวลาเขาจะส่งออกเอกชนต้องขออนุญาตรัฐบาลเขาเช่นกัน เราก็ติดต่อรัฐบาลต่อรัฐบาลด้วย เป็นความยากง่ายของเรา

ยัน ไม่ได้จองวัคซีนช้า ไม่ผูกขาด
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สิ่งที่เรารับวัคซีนในช่วงแรก เราจัดซื้อ สั่งการ สั่งมาในฐานะที่เราควบคุมการระบาดได้ดีมากในระยะที่ 1 เราจัดหาวัคซีนมาตามความจำเป็น เราไม่อยากให้ประชาชนมีความเสี่ยง ในกรณีที่วัคซีนเหล่านั้นยังไม่ได้พิสูจน์ทราบ

วันนี้เมื่อพิสูจน์ทราบมาแล้ว ได้เปิดโอกาสให้หลาย ๆ ยี่ห้อเข้ามาเสนอขายวัคซีนให้กับเรา เราก็ต้องหาช่องทางว่าจะซื้อได้อย่างไร เพราะเป็นการติดต่อระหว่างรัฐต่อรัฐในกรณีฉุกเฉิน ต้องไปดูภาคเอกชนและรัฐบาลของเขาด้วย เราจึงจะรับวัคซีนของเขามา

“ขอให้เข้าใจตรงนี้ ไม่ใช่เพราะเราจองช้า หรือน้อยเกินไป เพราะทุกอย่างพัฒนาตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เราไม่อยากให้ประชาชนมีความเสี่ยงในตอนแรกที่เริ่มมีการผลิตวัคซีนออกมา หลายประเทศก็เช่นเดียวกับเรา” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องการฉีดวัคซีนได้เร่งรัดให้มีการฉีดวัคซีนเร็วที่สุด ในโควตาที่ให้ไป ให้ประชาชนเข้ามารับบริการวัคซีนให้ทั่วถึงตามความเร่งด่วนของกระทรวงสาธารณสุข วันนี้เร่งรัดใน ครม.ให้ทุกจังหวัด รวมถึง ครม.เร่งฉีดวัคซีนที่ได้รับไปให้เร็วที่สุดในจำนวนที่ให้ไปจนครบ และรัฐบาลได้เตรียมวัคซีนสำรองในระยะต่อไปเพื่อให้ทั่วถึง และเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่เคยคิดเรื่องการผูกขาดวัคซีน คิดแต่เพียงว่าทำอย่างไรจะปลอดภัย จัดหาได้ เพราะเราไม่สามารถไปซื้อเหมือนกับยาทั่วไปได้ เพราะเป็นวัคซีนที่ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และบริษัทผู้ผลิตเอกชนไม่รับผิดชอบในกรณีที่เกิดผลข้างเคียง จึงจำเป็นที่รัฐจะต้องเป็นผู้จัดหา ต่อไปจะคลี่คลายได้

สำหรับการเข้าถึงวัคซีนนั้น วันนี้ได้เร่งรัดไป ทราบว่าแอปพลิเคชั่นหมอพร้อม กระทรวงสาธารณสุขจะเริ่มให้ลงทะเบียนในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ เนื่องจากมีการเตรียมการให้เข้าถึงประชาชนทั้งประเทศให้ได้โดยเร็ว จากเดิมได้นำข้อมูลผู้เข้ารักษาในสถานพยาบาลทั่วประเทศก็ได้จำนวนหนึ่ง แต่ที่เหลือต้องหาเพิ่มเติมว่าคนทั้งประเทศมีความต้องการฉีดวัคซีนโดยความสมัครใจเท่าไหร่

มี 2 ล้านโดสในกระเป๋า
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สำหรับการเข้ามาของวัคซีน ในเดือนกุมภาพันธ์ เข้ามา 317,000 โดส แบ่งเป็นซิโนแวก 200,00 โดส แอสตร้าเซนเนก้า 117,000 โดส มีนาคม ซิโนแวก 800,00 โดส เมษายน ซิโนแวก เข้ามาอีก 1 ล้านโดส รวม 2,117,000 โดส ได้จัดแผนแจกจ่ายในพื้นที่ต่าง ๆ เพิ่มเติมมากขึ้นแล้ว และขอให้เร่งรัดการฉีดให้มากขึ้น หากบุคลากรทางการแพทย์ไม่พอ ก็ขอให้รวบรวมบรรดาหมอ พยาบาล ที่มีขีดความสามารถมาช่วยกันฉีด ในส่วนโรงพยาบาลเอกชนพร้อมที่จะช่วยฉีด ได้หารือกันอยู่แล้วว่าจะทำอย่างไรจะรวดเร็วขึ้น

ไฟเซอร์ 10 ล้านโดส เข้าไทย ก.ค.นี้
ส่วนวัคซีนที่จะเข้ามาและมีการติดต่อไว้ ในวันที่ 24 เมษายน ซิโนแวก จะเข้ามา 5 แสนโดส พฤษภาคม ซิโนแวก เข้ามา 1 ล้านโดส แต่ในส่วน 1 ล้านโดส ต้องรอนโยบายของรัฐบาลจีนด้วย เพราะการนำออกมาจากประเทศจีนต้องขออนุมัติรัฐบาล ซึ่งเราหารือกันเป็นประจำอยู่แล้ว

สำหรับแอสตร้าเซนเนก้า ที่ผลิตในประเทศไทย จะเริ่มทยอยส่งตั้งแต่เดือนมิถุนายน 4-6 ล้านโดส และเพิ่มจำนวนตั้งแต่กรกฎาคมไปจนถึงสิ้นปี 2564 จนครบ 61 ล้านโดส เมื่อรวมกับวัคซีนทางเลือกคิดว่าจะเพียงพอ

“ขณะนี้สถาบันวัคซีนได้หารือกับบริษัทไฟเซอร์ และมีความเป็นไปได้ว่าจะจัดส่งในช่วงเดือนกรกฎาคม 5-10 ล้านโดส ขณะนี้อยู่ระหว่างรอใบเสนอราคาและเงื่อนไขอยู่ และมีวัคซีนอีกหลายยี่ห้อ ไม่อยากพูดล่วงหน้า เพราะยังอยู่ในขั้นตอนการติดต่อ รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ส่วนแผนการจัดหายาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งหลายคนเข้าใจว่าขาดแคลน แต่รัฐบาลได้จัดเตรียมแผนสำรองในการจัดหาไว้แล้วโดยกระทรวงสาธารณสุข และฟาวิพิราเวียร์ไม่ใช่ยาที่กินแล้วป้องกันโควิด-19 และวัคซีนก็สร้างภูมิต้านทานของเราให้เข้มแข็งขึ้น ขณะเดียวกัน เมื่อภูมิต้านทานเข้มแข็งขึ้นก็จะต้านทานโรคนี้ได้พอสมควร และไม่ไปแพร่เชื้อให้คนอื่น แต่ต้องใช้มาตรการเดิมที่มีอยู่ ใช้หน้ากาก เว้นระยะห่าง

เรื่องยา ฟาวิพิราเวียร์ เรามีแผนในเดือน เมษายน – พฤษภาคม จัดหาเพิ่มเติม 2 ล้านเม็ด ในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน จัดหาเพิ่มเติม 1 ล้านเม็ด ในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม อีก 5 แสนเม็ด เราจะสั่งซื้อมาในสต๊อก 3.5 ล้านเม็ดให้ได้เร็วที่สุด วันนี้ยังพอเพียงในขั้นต้นสำหรับการรักษา ถ้าสถานการณ์เลวร้ายมากขึ้นก็ต้องเพิ่มไปอีก

ทำความเข้าใจ รพ.สนาม
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงเรื่องโรงพยาบาลสนาม ว่า เน้นย้ำว่าต้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่าเราต้องเตรียมให้ได้ทุกพื้นที่ ตรงไหนจำเป็นต้องเปิดก่อนก็ต้องเปิดก่อน ถ้าไม่พอก็ต้องเปิดเพิ่มเติม ขอความร่วมมือให้ประชาชนเข้าใจ หลายคนต้องการเข้าโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน แต่ขีดความสามารถไม่พอ ต้องรักษาเตียงไว้สำหรับผู้ป่วยในโรคอื่น ๆ ด้วย จึงต้องตั้งโรงพยาบาลสนาม ซึ่งมีเตียงว่างอยู่เป็นจำนวนมากพอสมควร และพร้อมจะตั้งเพิ่มขึ้นใหม่

“โรงพยาบาลสนามอาจอยู่ไกลบ้านบ้าง แต่ขอทำความเข้าใจว่าจะไปดึงดันเข้าโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชนอย่างเดียวไม่ได้ในขณะนี้ ต้องคิดถึงคนอื่นด้วย รัฐบาลพยายามทำเต็มที่ ขอขอบคุณภาคธุรกิจที่ได้ช่วยสนับสนุนในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ได้ร่วมมือสนับสนุนอุปกรณ์ อาหาร มีหลายบริษัทที่เข้าร่วมมือ

ทั้ง ซีพี เอสซีจี ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และอื่น ๆ ที่ตนอาจจะไม่ได้กล่าวอย่างทั่วถึง ต้องขอขอบคุณโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ของ พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ที่สนับสนุนรัฐบาลในทุกๆ เรื่อง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

เราต้องชนะไปด้วยกัน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในตอนท้ายว่า เราจะต้องชนะไปด้วยกัน ชนะโควิด-19 ให้ได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจของคนไทยทุกคน หลายครั้งที่ผมพูดอาจจะพูดเร็วไปนิด เพราะเพราะมีหลายเรื่องที่จะต้องคิด ก็ต้องขอโทษด้วย วันนี้จะพยายามพูดช้า ๆ บางครั้งพูดเร็วผมก็พูดถูกบ้างผิดบ้าง สะกดการันต์พูดไม่ชัดบ้างอะไรบ้าง ก็ขอให้เข้าใจแล้วกัน

ผมพยายามเต็มที่ เพราะผมค่อนข้างจะเป็นคนที่ทำอะไรเร็วไปนิด คิดเร็วพูดเร็ว หลายเรื่องมันอยู่ในสมองนายกฯ เยอะ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สุขภาพ การลงทุน งบประมาณ แผนงานโครงการต่าง ๆ เยอะไปหมด แต่งานในหน้าที่ของนายกฯ ผมก็จะทำให้ดีที่สุดด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน อะไรที่ไม่ดีก็ต้องขอโทษ อะไรที่ดีก็ขอให้ร่วมมือนายกฯ นายกฯ ไม่เคยเป็นอื่น ยังคงยึดมั่นในหลักการของนายกฯ

“มาตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมาว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยของเราดีขึ้น ดีที่สุดในอนาคต ให้ทุกคนได้มีโอกาสและแก้ปัญหาอุปสรรคเดิม ๆ ที่มีอยู่หลายเรื่อง รัฐบาลจำเป็นต้องนำมาแก้ไข เพราะปัญหาเข้ามาทุกวัน เพราะนั่นแสดงว่าเรายังแก้ไขปัญหาได้ไม่ครบไม่หมดและไม่หมด ผมยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการให้จนได้ ขอบคุณพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนที่รักที่รักยิ่งของผม” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ถกทีมเศรษฐกิจมาตรการเยียวยา
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ บ่ายวันนี้ (20 เมษายน) จะหารือกับฝ่ายเศรษฐกิจว่าเราใช้งบประมาณได้มากน้อยเพียงใด และโครงการใดบ้าง ส่วนโครงการที่ค้างอยู่คือโครงการเราชนะ และโครงการ ม.33 เรารักกัน โครงการอื่นที่จบไปแล้วจะหารืออีกครั้งหนึ่ง คงได้รับคำตอบในเร็ววันนี้

“เราต้องนึกถึงว่ารัฐบาลมีงบประมาณอยู่แค่ไหนอย่างไร เราไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณ ยังไงต้องหาให้จงได้ แต่จะหาได้ด้วยวิธีไหนเท่านั้นเอง ว่าจะมีงบประมาณที่เพียงพอหรือไม่ในสถานการณ์เช่นนี้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ส่วนเรื่องมาตรการช่วยเหลือคนตกงาน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จะเห็นว่ารัฐบาลมีหลายมาตรการออกไป ที่ทำให้รักษาการจ้างงานให้ได้มากที่สุด เราต้องดูแลต่อไปว่าจะทำอย่างไรกันอีก ไม่ว่าเป็น SMEs ต้องจัดเตรียมหางบประมาณเพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิม

เห็นใจแพทย์ติดโควิด
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีบุคลากรทางการแพทย์ติดโควิด-19 ว่า ต้องเข้าใจว่าเขาติดมาอย่างไร คงไม่ได้ไปเที่ยวเตร่ที่ไหนมา ต้องเห็นใจเขา ไม่ว่าเป็นทหาร ตำรวจ ที่ดูแลด่านตรวจ จุดสกัด หรือดูแลผู้ชุมนุม ดูแลในแหล่งแพร่ระบาด เขาติดเชื้อมาต้องดูแลเขา เห็นใจเขา

จึงไม่อยากสร้างภาระให้เขาอีกในเรื่องที่ไม่จำเป็น ที่ต้องใช้คนจำนวนมากในลงไปดูแลใกล้ชิดกันอีก ก็จะเป็นการแพร่เชื้อกันต่อไป เราต้องรักษาบุคลากรทางการแพทย์ให้มากที่สุด ให้ความสำคัญ รักษาพยาบาลเขา รัฐบาลมีมาตรการดูแลอยู่แล้ว

ลงโทษเจ้าของสถานที่แพร่เชื้อ
เรื่องของการติดตามดำเนินคดีแหล่งแพร่ระบาดโควิด-19 นั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ กำชับให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ให้พิจารณาโทษและลงโทษไปบ้างแล้ว และหลายอย่างเป็นเรื่องการตรวจสอบว่าใครเป็นเจ้าของ ไม่ได้นิ่งนอนใจ

 

ข่าวจาก : ประชาชาติธุรกิจ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: