เฟซบุ๊กประกาศว่าในอีก 2-3 เดือนข้างหน้านี้ จะเปิดตัวฟีเจอร์เกี่ยวกับเสียง ได้แก่ ห้องถ่ายทอดสดเสียง (Live Audio Rooms) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับแอปพลิเคชันคลับเฮาส์ (Clubhouse) ที่กำลังได้รับความนิยม โดยคนเข้ามาฟังและเข้าร่วมสนทนาแบบสด ๆ ได้
นอกจากนี้ยังจะเปิดตัวซาวด์ไบต์ส (Soundbites) ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่ผู้ใช้งานสามารถสร้างและส่งต่อคลิปเสียงสั้น ๆ ถึงกันได้อีกตัวหนึ่ง
ในช่วงแรกจะยังมีผู้สร้างเนื้อหาจำนวนไม่มากนัก ในเวลาเดียวกันผู้ใช้งานจะสามารถทำเงินได้ทั้งจากห้องถ่ายทอดสดเสียง หรือซาวด์ไบต์ส แต่ยังไม่ชัดเจนว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กจะสามารถใช้ฟีเจอร์ดังกล่าวได้ทุกคนหรือไม่ หรือจะสงวนไว้สำหรับผู้สร้างเนื้อหาที่มีผู้ติดตามจำนวนมากเท่านั้น
นอกจากนี้ เฟซบุ๊กจะอนุญาตให้ผู้ใช้งานฟังพ็อดคาสต์ได้โดยตรงจากแอปพลิเคชันเฟซบุ๊กด้วย
ผู้สื่อข่าวบีบีซีรายงานว่าในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 เครือข่ายสื่อสารทางเสียงเพียงอย่างเดียวได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยนอกจากเฟซบุ๊กแล้ว เรดดิต (Reddit) ยังได้ประกาศเปิดตัวเรดดิต ทอล์ก (Reddit Talk) ซึ่งเป็นคลับเฮาส์รูปแบบของตัวเองเช่นกัน
มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก ประกาศเรื่องนี้ ขณะพูดกับเคซีย์ นิวตัน ผู้สื่อข่าวของ Platformer สื่อด้านเทคโนโลยี เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (19 เม.ย.)
ในแถลงการณ์ ฟิดจิ ซิโม หัวหน้าเฟซบุ๊กแอป ระบุว่า “เสียงเหมาะกับชีวิตที่ยุ่งเหยิงของคนเราได้อย่างดี ทำให้เราได้แรงบันดาลใจจากแนวคิดใหม่ ๆ และคุยกับคนที่คิดเหมือนกันได้โดยไม่มีแรงกดดัน”
อย่างไรก็ดี ยังไม่ชัดว่าเฟซบุ๊กมีแผนจะดูแลควบคุมช่องเสียงเหล่านี้อย่างไร
ต่อต้านการแข่งขัน
ที่ผ่านมา นายซักเคอร์เบิร์ก และเฟซบุ๊ก ถูกคณะกรรมาธิการการค้าสหรัฐฯ (US Federal Trade Commission—FTC) กล่าวหาว่ามีพฤติกรรมต่อต้านการแข่งขัน โดยเมื่อปีที่แล้ว นายซักเคอร์เบิร์ก ยอมรับว่าได้เลียนแบบคู่แข่งหลายราย โดยเฟซบุ๊ก “ได้ปรับฟีเจอร์หลายอย่างที่เป็นการริเริ่มโดยผู้อื่น”
อินสตาแกรม รีลส์ (Instagram Reels) ซึ่งเปิดตัวเมื่อปีที่แล้วก็มีหน้าตาคล้ายคลึงกับ ติ๊กต็อก (TikTok) ส่วนอินสตาแกรม สตอรีส์ (Instagram Stories) ฟีเจอร์ที่เปิดตัวในปี 2016 ก็ถูกวิจารณ์ว่านำมาจากสแน็ปแชต (Snapchat)
ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่าการที่บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ “ยืม” เอาแนวคิดที่ผู้ริเริ่มเป็นเพียงบริษัทเล็ก ๆ มาใช้นั้นอาจเข้าข่ายกีดกันการแข่งขันได้
ข่าวจาก : Khaosod Online
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ