เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพและโฆษกกรมอนามัย กล่าวว่า
จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าวการให้บริการของร้านซูชิบุฟเฟ่ต์เชียงใหม่แบบ Drive-In Buffet เสิร์ฟตรงถึงที่ให้ลูกค้านั่งกินอาหารในรถยนต์ส่วนตัวนาน 2 ชั่วโมง
โดยเป็นการปรับตัวของร้านอาหารภายหลังที่ได้กำหนดให้จังหวัดเชียงใหม่เป็น 1 ใน 6 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีการบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ อย่างเข้มงวด หนึ่งในนั้นคือการให้ร้านอาหารจำหน่ายเฉพาะซื้อกลับไปกินที่บ้านหรือที่อื่น และห้ามนั่งกินในร้าน ซึ่งแม้ว่าทางร้านดังกล่าว จะมีรูปแบบการสั่งอาหารโดยใช้วิธีการสั่งผ่านแอปพลิเคชันและคิวอาร์โค้ด พร้อมทั้งมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ โควิด-19 และจำกัดจำนวนลูกค้าในแต่ละรอบด้วยนั้น
แต่การกินอาหารในรถพร้อมกันลักษณะนี้อาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 ได้ เพราะจะไม่ทราบได้ว่าผู้ที่มาอยู่ในรถเป็นสมาชิกในครอบครัวอยู่ในบ้านเดียวกัน หรือเป็นการรวมกลุ่มคนจากหลากหลายที่มาอยู่รวมกันในที่แคบ ห่างกันไม่เกิน 1 เมตร รถเล็ก ๆ ห่างกัน 50 เซนติเมตร อากาศถ่ายเทไม่ดีเท่าที่ควร และใช้เวลากินนานพอสมควร อีกทั้งจำเป็นต้องถอดหน้ากากออกเมื่อกินอาหารร่วมกัน ทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ รวมทั้งการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายกรณีเป็นพื้นที่ที่กฏบังคับเรื่องการสวมหน้ากากออกนอกเคหะสถานมากกว่า 2 คน แม้จะมาจากบ้านเดียวกันอาจถูกจับปรับได้
ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยในช่วงเวลานี้ขอให้ประชาชนใช้วิธีการซื้อไปกินที่บ้าน หรือสั่งอาหารแบบเดลิเวอรีแทน เพื่อลดการออกนอกบ้านหรือรวมตัวกันโดยไม่จำเป็น และเมื่อสถานการณ์โควิดในพื้นที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น การใช้มาตรการคุมเข้มต่าง ๆ ก็อาจจะมีการผ่อนปรนให้นั่งกินในร้านอีกครั้ง แต่กำจัดจำนวนผู้ใช้บริการและเข้มมาตรการ เว้นระยะห่างหรือมาตรการอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งต้องเป็นความร่วมมือของทุกคนที่ต้องช่วยกันเพื่อลดความเสี่ยงของโรคโควิด-19
ทางด้าน นายสมศักดิ์ ศิริวนารังสรรค์ ผู้อำนวยการสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กล่าวว่า สิ่งที่ กรมอนามัยเน้นย้ำทุกร้านอาหารที่ให้บริการในช่วงเวลานี้คือมาตรการความปลอดภัยเพื่อป้องกันโควิด-19 สร้างความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค เริ่มตั้งแต่ครัว กระบวนการปรุง ประกอบ จนถึงมือผู้บริโภค ซึ่งการแพร่ระบาดส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ โดยการสัมผัสคลุกคลีใกล้ชิดกันเป็นเวลานานในกลุ่มพนักงาน หรือในกลุ่มผู้บริโภคร่วมวงเดียวกัน มากกว่าเกิดจากพนักงานไปสู่ผู้บริโภค
โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ผู้ประกอบกิจการร้านอาหาร ต้องจัดให้มีระบบการคัดกรองพนักงานหรือ ผู้ให้บริการและผู้มาใช้บริการ รวมทั้งผู้ประกอบกิจการควรประเมินการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ผ่านแพลตฟอร์ม THAI STOP COVID http://stopcovid.anamai.moph.go.th ของกรมอนามัยเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค
กลุ่มที่ 2 ผู้สัมผัสอาหารและผู้ปฏิบัติงานในร้านอาหาร ต้องมีการตรวจคัดกรองพนักงานในร้านทุกคนก่อนให้ปฏิบัติงาน ให้มีการสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ถ้าหน้ากากเปียกชื้นหรือสกปรกควรเปลี่ยนใหม่ทันที ล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์ก่อนปฏิบัติงานที่ต้องสัมผัสอาหารทุกครั้ง หลังออกจากห้องส้วม และหลังสัมผัสสิ่งสกปรก สำหรับกระบวนการ ปรุงประกอบ ต้องเตรียมและปรุงอาหารบนโต๊ะที่สูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร อาหารสดต้องล้างให้สะอาดก่อนนำมาปรุง หรือเก็บ ส่วนวิธีการเก็บอาหารประเภทต่าง ๆ ต้องแยกเก็บเป็นสัดส่วน อาหารประเภทเนื้อสัตว์ดิบเก็บในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส และอาหารที่ปรุงสำเร็จแล้วห้ามใช้มือหยิบจับหรือสัมผัสอาหารโดยตรง
และกลุ่มที่ 3 ผู้ซื้อ/ผู้บริโภค เช่นเดียวกันต้องคัดกรองตนเองหากรู้ว่าเสี่ยงไม่ควรออกจากบ้าน ต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเข้าไปซื้ออาหารในร้าน และไม่ควรใช้ระยะเวลานาน (กรณีอนุญาตให้นั่งทานได้ไม่ควรใช้เวลานานเกิน 1 ชั่วโมง) รวมทั้งเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร หรือหากมีการรับอาหารที่ปรุงสำเร็จจากผู้ส่งอาหารประเภทเดลิเวอรีแล้ว ต้องล้างมือให้สะอาด จากนั้นนำอาหาร ไปถ่ายใส่ในภาชนะ หากเก็บอาหารปรุงสำเร็จนานเกินกว่า 2 ชั่วโมง ควรนำมาอุ่นให้เดือดอีกครั้งก่อนนำมาบริโภค
ข่าวจาก : มติชนออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ