รายได้รัฐบาลสุทธิครึ่งปีแรก 1.01 ล้านล้านบ. ต่ำกว่าคาด 1.22 แสนล้านบ. ผลจากพิษโควิด-19
เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิครึ่งปีแรก ที่ต่ำกว่าประมาณการ เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวเนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังมีการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตสาหรับภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่
อย่างไรก็ตาม นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้มอบนโยบายให้กรมภาษีไปเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2564 ให้เข้าเป้า ซึ่งขณะนี้กรมจัดเก็บรายได้ ทั้งกรมสรรพสาพร สรรพสามิต และกรมศุลกากร ก็รับนโยบายไปแล้ว และจะเร่งดูแล หลังจากในช่วงที่ผ่านมาจัดเก็บรายได้พลาดเป้าหมายไปกว่าแสนล้านบาท
“เราเข้าใจในเรื่องสถานการณ์โควิด แต่เรื่องเป้าเก็บรายได้ของแต่ละกรมก็ยังอยากให้เป็นไปตามเป้าหมายประมาณการของเอกสารงบประมาณ อย่างไรก็ดี อาจจะมีการหลุดเป้าหมายไปบ้าง ซึ่งกระทรวงการคลังก็เห็นสัญญาณการเก็บรายได้ที่ลดลง ซึ่งแต่ละกรมจึงจะต้องเร่งดูแลเรื่องนี้ ขณะเดียวกัน สศค. ก็ต้องติดตามว่าช่วงที่เหลือจะสามารถทำได้ใกล้เคียงเป้าหมายมากน้อยแค่ไหนบ้าง”น.ส.กุลยา กล่าว
รายงานจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 2563 – มีนาคม 2564) ยังคงเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง โดยจัดเก็บรายได้ที่ 1.01 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 122,545 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10.7% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 123,594 ล้านบาท หรือ 10.8%
โดยพบว่ายอดจัดเก็บรายได้ติดลบลงทุกรายการ โดยเฉพาะจาก 3 กรมภาษี ได้แก่ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร เก็บรายได้รวมกัน 1.06 ล้านล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 97,606 ล้านบาท และต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 103,343 ล้านบาท
ส่วนการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจก็ลดลงเช่นกัน มีรายได้ทั้งสิ้น 47,780 ล้านบาท ลดลง 53,393 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปีก่อน และลดลง 35,006 ล้านบาทเมื่อเทียบกับเป้าหมาย เนื่องจากปีนี้รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่มีผลประกอบการลดลงจากผลกระทบโควิด รวมถึงธนาคารรัฐก็นำกำไรไปช่วยเหลือลูกหนี้และมีการตั้งสำรองเผื่อหนี้เสียที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ขณะที่รายได้อื่นจากส่วนราชการจัดเก็บได้ 86,862 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,719 ล้านบาทจากปีที่แล้ว แต่ต่ำกว่าเป้าประมาณการณ์ 5,047 ล้านบาท
การจัดเก็บรายได้ทั้งปีนี้คาดว่าจะทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายแน่นอน โดยจะไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท หรืออาจสูงถึง 2 แสนล้านบาทได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่กนะทรรวงการคลังกังวลว่าอาจกระทบต่อการจัดทำงบประมาณในปีหน้า รวมถึงการจัดทำแผนบริหารหนี้ เพราะมีแนวโน้มคลังอาจต้องมีการกู้เต็มเพดาน ทั้งการกู้ชดเชยการขาดดุล และการกู้เงินจากจากกรอบรายจ่ายสูงกว่ารายได้มาใช้ปิดหีบหากรายได้เข้ามาต่ำจริงๆ
ทั้งนี้ในช่วงครึ่งปีแรกกรมที่จัดเก็บรายได้ติดลบมากสุด คือ กรมสรรพากรเก็บได้เพียง 735,958 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 76,728 ล้านบาท โดยภาษีที่ลดลงส่วนใหญ่ เป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล เนื่องจากรัฐได้ออกมาตรการชะลอการเก็บภาษีเพื่อบรรเทาผลกระทบโควิด อีกทั้งภาคธุรกิจ และประชาชนมีรายได้ลดลงทำให้เสียภาษีน้อยลง
ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ยังเก็บได้น้อยกว่าปีก่อน เช่นเดียวกับภาษีเงินได้ปิโตรเลียม สำหรับรายได้กรมสรรพสามิต ก็ลดลงเช่นกัน โดยเก็บได้ 281,556 ล้านบาท น้อยกว่าเป้าหมาย 25,319 ล้านบาท โดยมีการลดลงทั้งภาษียาสูบ ภาษีสุรา ภาษีเบียร์ ภาษีเครื่องดื่ม ขณะที่กรมศุลกากรเก็บรายได้ 50,304ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 1,296 ล้านบาท
ข่าวจาก มติชนออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ