เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการหาช่องทางช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกันตนในช่วงวิกฤตโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า
ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยแบ่งเป็น 1.การดูแลรักษาชีวิตและสุขภาพให้ปลอดภัย ได้มีการจัดโครงการให้ผู้ประกันตนตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 และนำเข้าสู่ระบบรักษา
โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ล่าสุดสามารถช่วยเหลือนำผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเครือข่ายประกันสังคมแล้วกว่า 1,200 ราย 2.การเยียวยาผู้ประกันตนและสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดงาน หรือ ถูกเลิกจ้าง โดยขณะนี้ได้ดูแลผู้ที่ได้รับกระทบจากการที่รัฐบาลมีคำสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราว โดยแบ่งเบาภาระนายจ้างจ่ายเยียวยาให้ลูกจ้างผู้ประกันตนในอัตราร้อยละ 50 เป็นเวลา 3 เดือน หรือ 90 วัน นอกจากนี้ในส่วนของกลุ่มที่ถูกเลิกจ้าง ยังได้จัดหาตำแหน่งงานว่างให้เข้าไปสมัครงานอีกกว่า 2 แสนอัตรา
“สำหรับในส่วนของนำเงินจากกองทุนชราภาพบางส่วนออกมาใช้จ่าย หรือการให้ผู้ประกันตนกู้ยืมเงินเพื่อประคับประคองสถานการณ์นั้น ยังอยู่ในการกระบวนการพิจารณาในรายละเอียด ซึ่งต้องใช้เวลา เนื่องจากติดขัดที่กฎหมาย โดยในส่วนของการใช้เงินกองทุนชราภาพที่มีแนวคิดจะให้นำออกมาใช้ ร้อยละ 30-50 นั้น ล่าสุดได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์แล้ว ขั้นตอนต่อไปเตรียมเสนอเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร คาดว่าใช้เวลาประมาณ 10 เดือน” นายสุชาติ กล่าว
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังกล่าวถึงการกระจายวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชน ว่า ล่าสุดในที่ประชุมคณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ตนได้มีการหารือถึงเรื่องดังกล่าว โดยมีแนวคิดว่าต้องช่วยกันกระจายวัคซีนให้ถึงมือประชาชนโดยเร็วที่สุด ซึ่งจะเสนอให้โรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคม ดำเนินการฉีดวัคซีนไปฉีดให้ผู้ประกันตนที่อยู่ในโรงงานหรือสถานประกอบการ
“เป็นการให้วัคซีนเชิงรุก โดยโรงพยาบาลในเครือประกันสังคมนำวัคซีนเข้าไปฉีดให้ผู้ประกันตนถึงสถานที่ตั้ง เช่น สถานประกอบการ A มีพนักงานผู้ประกันตน 1,000 คน ก็นัดวันเวลาให้โรงพยาบาลเข้าไปตั้งโต๊ะฉีดให้กับคนที่สมัครใจ ทั้งนี้เพื่อความรวดเร็ว และช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ซึ่งเรื่องนี้ผมเตรียมจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการจัดทำแผนการกระจายวัคซีน และเตรียมความพร้อมสถานที่ฉีดวัคซีน ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้ดำเนินการร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในการประสานงานร่วมกับภาคเอกชน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายฉีดวัคซีนให้คนไทยร้อยละ 70 หรือ ประชากร 50 ล้านคน ภายในสิ้นปี 2564” นายสุชาติ กล่าว
ข่าวจาก : มติชนออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ