หัวหน้าศูนย์ลงทะเบียนรับวัคซีน COVID-19 ธรรมศาสตร์ รังสิต เผยประชาชนโทร.กระหน่ำจอง พร้อมปรับระบบบริการ หลังมีปัญหาสัญญาณสื่อสาร พร้อมขอให้ลงทะเบียนตามกรอบเวลาที่กำหนด ชุดแรกกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นหรือ 7 โรค ชุดสอง กลุ่มอายุ 50 ขึ้นที่เป็นคนไข้ และเจ้าหน้าที่ สุดท้ายประชาชนในพื้นที่
วันที่ 16 พ.ค. 64 ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการบริหารโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ รังสิต เปิดเผยว่า เพื่อแก้ปัญหาสำหรับประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่ลงทะเบียนจองคิววัคซีน COVID-19 ผ่านระบบหมอพร้อมไม่ได้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยความร่วมมือจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
จึงได้เปิดศูนย์ลงทะเบียนรับวัคซีน COVID-19 ขึ้น ณ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ รังสิต ให้บริการในรูปแบบของ CALL CENTER ที่มีระบบบริการมากถึง 30 คู่สาย โดยได้เริ่มให้บริการตั้งแต่เวลา 10.00 น. ของวันที่ 14 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา ในการนี้มีจิตอาสาที่เป็นอาสาสมัครชาวธรรมศาสตร์ ช่วยมาเป็นผู้รับข้อมูลจากประชาชน
ขณะที่ รองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สำหรับการให้บริการ Call Center ศูนย์ลงทะเบียนรับวัคซีน COVID-19 ที่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำหนดที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องหรือไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือถึงสิ้นปี 2564 หรือไม่น้อยกว่า 6 เดือน โดยประชาชนสามารถติดต่อ Call Center ได้ทางโทรศัพท์หมายเลข 02-088-0400 ซึ่งเปิดให้บริการตั้งแต่วันจันทร์-วันเสาร์ ในช่วงเวลา 08.30 – 18.00 น. ขณะที่ด้านการให้บริการฉีดวัคซีน ณ ศูนย์รับวัคซีน COVID-19 ธรรมศาสตร์ รังสิต (อาคารยิมเนเซียม 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต) จะเปิดให้บริการทุกวัน
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(TSE) ในฐานะหัวหน้าศูนย์ลงทะเบียนรับวัคซีน COVID-19 ธรรมศาสตร์ รังสิต กล่าวเพิ่มเติมว่า จากที่เปิด CALL CENTER ศูนย์ลงทะเบียนรับวัคซีน COVID-19 ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา พบว่า ในช่วงแรกของการดำเนินงาน มีปัญหาและอุปสรรคในการให้บริการพอสมควร อาทิ การขัดข้องระบบสัญณาญไวไฟ ขณะที่ได้มีประชาชนได้โทร.เข้ามาเป็นจำนวนมากจนทำให้ให้การสื่อสารขัดข้อง เป็นต้น จึงต้องขออภัยประชาชนทุกท่านที่ติดต่อเข้ามาและประสบปัญหา
“จากปัญหาที่เกิดขึ้น ขณะนี้จึงได้ดำเนินการแก้ไขด้วยการเพิ่มจุดสัญญาณไวไฟให้มากขึ้น เพื่อให้ระบบติดต่อสื่อสารดีขึ้น พร้อมทั้งเตรียมซิมโทรศัพท์ที่สามารถต่ออินเตอร์เน็ตช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ แต่อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญอยากขอให้พี่น้องประชาชน ได้ทำความเข้าใจถึงกรอบเวลาการให้บริการการรับจองวัคซีนตามที่กำหนดด้วย เพราะพบว่า ตั้งแต่เปิดบริการจนถึงวันนี้ มีประชาชนในทุกช่วงอายุ ได้โทร.เข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการขัดข้องด้านระบบการสื่อสาร และเจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลามากในการอธิบายจนเกิดความเข้าใจ”
ทั้งนี้ ดร.ธีร ได้กล่าวถึงกรอบวันเวลาในการรับจองวัคซีนตามกลุ่มเป้าหมาย ที่แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ หนึ่ง กลุ่มบุคคลที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือกลุ่มที่มีโรคประจำตัว 7 โรค โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรังระยะ 5 โรคมะเร็งทุกชนิดและโรคอ้วน (เกิน 100 กก.) ที่ยังไม่ได้จองผ่านระบบหมอพร้อม เริ่มจองคิวรับวัคซีนที่ธรรมศาสตร์ได้ตั้งแต่ 14 พ.ค. เป็นต้นไป
สอง กลุ่มบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป มีเลขประจำตัวผู้ป่วย (HN) ที่ รพ.ธรรมศาสตร์ (มีมากกว่า 1 ล้านคน) หรือเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มจองคิวรับวัคซีนที่ธรรมศาสตร์ได้ตั้งแต่ 17 พ.ค. เป็นต้นไป
และ สาม กลุ่มบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งมีภูมิลำเนาตามบัตรประชาชนอยู่ในจังหวัดปทุมธานี หรืออยู่ในโซนเหนือของกรุงเทพมหานคร ซึ่งธรรมศาสตร์รับผิดชอบดูแลรับส่งต่อในกรณีที่ป่วยด้วยโรคโควิด19 ได้แก่ เขตดอนเมือง สายไหม หลักสี่ บางซื่อ จตุจักร บางเขน และลาดพร้าว เริ่มจองคิวรับวัคซีนได้ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค. เป็นต้นไป
“การทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกคน เราทำด้วยจิตอาสา อย่างเจ้าหน้าที่ชุดที่ทำงานเวลานี้เป็นอาสาสมัครจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทุกคนมีความตั้งใจที่เข้ามาช่วยเหลือเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการบริการฉีดวัคซีน ดังนั้นจึงขอความร่วมมือและเข้าใจในการทำงานของอาสาสมัครทุกคนด้วย” หัวหน้าศูนย์ลงทะเบียนรับวัคซีน COVID-19 ธรรมศาสตร์ รังสิต กล่าว
ข่าวจาก ข่าวสดออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ