กรรมมีจริง.. ลูกบ้านออกกฎ ติดโควิดหายแล้วก็ห้ามเข้า แต่เสียงอ่อยเพราะลูกติดซะเอง





กรรมการคอนโด เผยพฤติกรรมลูกบ้านรายหนึ่ง ชวนเพื่อนบ้านออกกฎเข้มห้ามคนเคยติดโควิด 19 เข้าคอนโด ค้านแล้วไม่ฟัง สุดท้ายเสียงอ่อยขอเปลี่ยนกฎ หลังลูกสาวติดเชื้อเสียเอง

นับเป็นอีกหนึ่งกรณีที่เกิดขึ้นในคอนโดช่วงการระบาดของโควิด 19 โดยผู้ใช้ทวิตเตอร์ท่านหนึ่งซึ่งเป็นกรรมการคอนโด เผยกฎที่ลูกบ้านเสียงส่วนใหญ่ห้ามคนติดโควิด-19 เข้ามาในพื้นที่คอนโด แม้จะรักษาหายแล้วแต่ก็ต้องมีเอกสารยืนยันผลตรวจที่เป็นลบ รวมทั้งต้องไปกักตัวที่อื่น 7 วัน จึงจะกลับเข้าคอนโดได้ ซึ่งแม้กรรมการรายนี้จะคัดค้านว่าคอนโดไม่มีอำนาจเช่นนั้น แต่ลูกบ้านยืนยันว่าจะใช้กฎแบบนี้

อย่างไรก็ดี ล่าสุด (23 พฤษภาคม 2564 ) เกิดเหตุการณ์ชวนสับสนขึ้น เมื่อหนึ่งในลูกบ้านที่ผลักดันกฎดังกล่าว ออกมาไกล่เกลี่ยให้กรรมการช่วยผลักดันเปลี่ยนกฎ เนื่องจากลูกสาวติดโควิดยังรักษาไม่หาย ส่งผลให้ถูกกีดกันไม่ให้เข้าคอนโด โดยครั้งนี้ลูกบ้านอ้างว่า เวลาเปลี่ยน นโยบายก็ต้องเปลี่ยน โควิดติดข้ามห้องไม่ได้ วัคซีนก็หาไม่ยาก จึงน่าจะปรับกฎไม่ต้องเข้มได้หรือไม่

กรรมการคอนโดท่านนี้ ยืนยันว่า ลูกบ้านควรจะปฏิบัติตามกฎเดิมที่เคยเสนอมาว่าเอกสารยืนยันต้องครบจึงจะกลับเข้าคอนโดได้ ยอมรับว่าครั้งนั้นเคยคัดค้านเพราะเห็นว่าเอกสารตรวจต่าง ๆ ไม่ได้หาง่าย และการไปกักตัวที่โรงแรมก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ตอนนั้นลูกบ้านส่วนใหญ่ไม่ฟังเอง บอกว่าเป็นเรื่องขอขาดบาดตาย แต่ทำไมจะมาเปลี่ยนช่วงนี้ที่โควิดมีสายพันธุ์อื่น ๆ เพิ่มมาทั้ง สายพันธุ์อินเดีย แอฟริกา หากไม่ปฏิบัติตามกฎเดิมเกรงว่าลูกบ้านท่านอื่น ๆ จะไม่ยินดีแน่นอน

ทางฝ่ายลูกบ้านอ้างว่า กรรมการควรเป็นคนมีจิตเมตตา ลูกบ้านมีอายุมากแล้ว รายได้ก็ไม่มาก จะไปเสียค่าเปิดโรงแรมกักตัวก็มองว่าเกินกว่าเหตุ ขอว่าต้องอยู่ในสังคมด้วยความเข้าใจและประณีประนอม ซึ่งต่อมาทางกรรมการคอนโดท่านนี้แนะนำให้ลูกบ้านไปปรึกษากับลูกบ้านอื่น ๆ เพื่อหาข้อสรุปมาเหมือนที่เคยทำรอบที่แล้ว หากลูกบ้านคนอื่นเห็นใจทางกรรมการก็ยินดีจะปฏิบัติตามนั้น

ทั้งนี้หลังเรื่องราวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ปรากฏว่ากลายเป็นที่ชื่นชอบในทวิตเตอร์อย่างมาก โดยถือเป็นอุทาหรณ์ว่า หากเลือกที่จะเห็นอกเห็นใจผู้อื่นตั้งแต่แรก ก็คงไม่ต้องมาทุกข์หนักแบบนี้ หรือจะมองว่าเรื่องนี้เหมือนกรรมตามสนองก็เป็นได้เช่นกัน

 

ข่าวจาก : kapook

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: