‘วิษณุ’ ยัน ร่างพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน ไม่ผิดวินัยคลัง แนะเร่งถกงบ 65 ให้เสร็จตามกรอบ 105 วัน มิฉะนั้น จะแก้ไม่ได้แม้แต่ตัวเดียว
เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ให้พิจารณาและมีคำสั่งเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)
เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ที่มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท และมติครม. เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพราะอาจขัดกับวินัยการเงินการคลัง และขัดรัฐธรรมนูญ ว่า เรื่องดังกล่าวคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ชี้แจงแล้วว่าเรื่องนี้ได้ตรวจสอบตั้งแต่ต้นแล้ว และยังคิดไม่ออกว่าเกี่ยวข้องอะไรกับศาลปกครอง
เพราะในรัฐธรรมนูญก็เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า ถ้าจะดำเนินการร้องก็ต้องไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่ทั้งนี้ก็รู้ว่าทำไมกลุ่มผู้ร้องถึงได้ไปร้องต่อศาลปกครอง เพราะเนื่องจากเขาไม่รู้ว่าจะมีการ ประกาศออกมาเมื่อไหร่ จึงได้ร้องให้มีการเพิกถอนมติของครม.
ตอนนี้เรื่องมันเกินกว่ามติครม. แล้ว อย่างไรก็ตามการยื่นเรื่องต่อศาลปกครองนั้นก็ไม่ได้ถือว่าผิด เพียงแต่เขา ต้องการให้มีการเพิกถอน คือเมื่อเป็นพ.ร.ก. แล้วศาลปกครองเพิกถอนไม่ได้
แต่ถ้าเป็นมติครม. ศาลปกครองเพิกถอนได้ เขาก็นึกว่าเป็นมติครม. แต่ความจริงเป็นพ.ร.ก.ไปแล้ว ที่สำคัญคือ กรณีที่บอกว่า ร่างพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ออกโดยไม่มีอำนาจตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 นั้น เราก็เช็คมาตั้งแต่พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทแล้ว ที่ระบุว่า รัฐสามารถกู้เงินได้โดยวิธีดังต่อไปนี้ มันก็เข้าหมดแล้ว
เมื่อถามว่า สภาผู้แทนราษฎจำเป็นต้องพิจารณาพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ก่อนร่างพ.ร.บ.งบประมาณร่ายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ต้องเป็นไปตามคิว คือ พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2565 ก่อน เพราะพ.ร.บ.งบประมาณ 2565 ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 105 วัน นับตั้งแต่วันที่ส่งร่างให้สภาฯ ที่ส่งไปเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 แม้ว่าสภาฯ จะยังไม่เปิด ก็นับวันไปแล้ว ฉะนั้นถ้าประชุม ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 2565 ในวันที่ 31 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2564 แค่นี้ก็เสียไปแล้ว 15 วัน จาก 105 วัน สภาฯ ก็จะเหลือเวลาการพิจารณาน้อย ถ้าไปเอาอะไรตัดหน้า หรือส.ส.บางคนกลัวโควิด-19 แล้วเสนอให้เลื่อนออกไป เวลาก็จะหายไป จึงอาจจะพิจารณาไม่เสร็จภายใน 105 วัน โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 143 ระบุว่า หากสภาฯ พิจารณาไม่เสร็จภายใน 105 วัน ให้ถือว่าสภาฯ ให้ความเห็นชอบ และอนุมัติตามได้ทุกประการ แก้ไม่ได้แม้แต่ตัวเดียว ดังนั้น จึงต้องพิจารณาให้เสร็จ
เมื่อถามว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดในสภาฯ จะมีผลให้เลื่อนการพิจารณาออกไปหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า อย่าเพิ่งพูดเพราะยังไม่มีการระบาดในสภาฯ แต่เป็นการระบาดในแคมป์คนงาน และได้ยินว่าเป็นคนงานสร้างรถไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ก็ต้องให้สภาฯ พิจารณา ทางที่ดีคือพิจารณาให้เสร็จโดยเร็ว และลดความแออัด ใครไม่พูดก็อย่าไปนั่งในสภาฯ ควรเข้าไปเฉพาะเวลาที่นับองค์ประชุม
“แม้ข้อกำหนดอาจจะผ่อนผันให้เปิดหน้ากากเวลาพูดได้ ก็ไม่ควรจะถอด แต่หากไม่ถอดหน้ากากตอนพูด อย่างวันนี้ผมนั่งประชุมครม. อยู่ก็เกือบเป็นลมคาไมโครโฟน มันก็เลยเหลืออยู่คำเดียวคือ อย่าพูดมาก ซึ่งทางวุฒิสภา เตรียมเสนอให้ตั้งไมโครโฟนไว้ต่างหาก ไม่ใช้ไมโครโฟนตรงที่นั่ง แล้วก็ฉีดแอลกอฮอล์ และเปลี่ยนผ้าคลุม อันตรายคือตอนที่พูดจากที่นั่งตัวเอง บางคนพอใครลุกขึ้นยืนพูด ก็ชอบย้ายมานั่งใกล้ๆ เพราะได้ออกทีวี นั่นก็จะรับน้ำลายเต็มๆ” นายวิษณุ กล่าว
ข่าวจาก : มติชนออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ