หากไล่เรียงดูในขณะที่ยังไม่รู้ว่าจะมีวัคซีนโควิด-19 มาถึงไทยเมื่อไหร่ อย่างไร ระบบการเตรียมการจองฉีดวัคซีนก็เกิดขึ้น และค่อนข้างสร้างความสับสนให้กับประชาชนไม่น้อย โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่มีคนอยู่หลายล้านคนทั้งคนที่มีทะเบียนบ้านและผู้ที่เข้ามาทำงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
อันแรกคือ “หมอพร้อม”
“หมอพร้อม” เป็นระบบไลน์แอปพลิเคชันในช่วงแรกของการฉีดวัคซีนถูกนำมาใช้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด้านหน้า จนกระทั่งวันที่ 1 พ.ค.2564 ไลน์หมอพร้อมเปิดให้กลุ่มผู้สูงอายุ และ กลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ลงทะเบียน มีเป้าหมาย 16 ล้านคน
แต่เพียงไม่กี่วันก็เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่พร้อมของระบบ จนมีการเปรียบเปรยว่าหรือ “หมอจะไม่พร้อม”
ซึ่งหลักการทำงานของ “ไลน์หมอพร้อม” คือ ให้กลุ่มเป้าหมายแรก 2 กลุ่มอย่างที่กล่าวไป ลงจองฉีดวัคซีนโควิด-19 แต่ในช่วงวันแรกของการเปิด ปัญหาหลักคือ ระบบล่ม ก่อนที่เพจหมอพร้อมจะออกมาขอแจ้งปิดปรับปรุงระบบชั่วคราว เพื่อทำการอัปเดตเวอร์ชั่น LINE OA จาก 2.1 เป็น 2.2
ปัญหาต่อมา ไม่สามารถลงจองฉีดวัคซีนในโรงพยาบาลที่ต้องการได้ หรือใกล้บ้านได้ แต่กลับระบบกลับให้ไปติดต่อไปยังโรงพยาบาลที่เคยมีประวัติการรักษา และปัญหาที่พบเจอมากที่สุดคือ “ระบบจองคิวเต็ม” ต่อมาเกิดกรณีแอปพลิเคชันส่งข้อความเตือนนัดวันฉีดวัคซีนย้อนหลัง และล่าสุดคือ ผู้ลงทะเบียนถูกเลื่อนหรือยกเลิกวันนัดฉีดวัคซีน ทำให้ต้องลงทะเบียนเพื่อนัดวันรับวัคซีนใหม่อีกครั้ง
แต่ไม่เพียงแต่ในพื้นที่ กทม.เท่านั้น หมอพร้อมยังเป็นระบบการจองผ่านสมาร์ทโฟนสำหรับอีก 76 จังหวัดทั่วประเทศด้วยพูดง่ายๆ คือ “ไลน์หมอพร้อม” ยังคงเป็นช่องทางหลักสำหรับการช่องฉีดวัคซีนอยู่
และจะเริ่มเปิดให้ประชาชนทั่วไปที่มีอายุตั้งแต่ 18-59 ปี จองฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่ วันที่ 31 พฤษภาคม นี้ และเริ่มฉีดในเดือน 1 สิงหาคม เป็นต้นไป ซึ่งนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธาณสุขมั่นใจว่าระบบจะสามารถ รองรับได้วินาทีละ 20,000 คน
จากนั้นไม่นานรัฐบาลเริ่มมีการออกมาพูดถึงการจัด วอร์คอิน (Walk in) ให้กับประชาชนโดยวางแผนว่าจะใช้พื้นที่นอกโรงพยาบาลเปิดให้ประชาชนสามารถเดินเข้ามารับวัคซีนได้ แต่เมื่อจำนวนวัคซีนยังคงมีจำกัด การจัดสรรยังคงไม่มีความชัดเจน ทำให้เกิดความสับสนและคำถามจากประชาชนว่าจะซ้ำซ้อนกับระบบหมอพร้อมหรือไม่ หรือจะทราบได้อย่างไรว่าไปแล้วจะได้รับวัคซีนจริง เพราะบางพื้นที่ก็มีกรณีไปแล้วคิวเต็ม ต้องกลับมาใหม่ในวันถัดไป ซ้ำยังสร้างความแอดอัดให้กับประชาชนที่จะ Walk in ไปยังจุดฉีด
ต่อมา จึงมีการปรับการลงทะเบียนฉีดวัคซีน จาก วอร์คอิน (Walk in) เป็น On-site Registration ตามข้อมูลจาก ทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า On-site Registration เป็นหนึ่งใน 3 ช่องทางการกระจายวัคซีน โดยรัฐบาลให้เหตุผลว่า เนื่องจากหากใช้คำว่าวอร์คอินแล้ว อาจเกิดความเข้าใจผิดว่าทุกคนที่เดินทางไปจะได้ฉีดในวันนั้น จนอาจเกิดปัญหาตามมาได้ ขณะที่การแพร่ระบาดและความรุนแรงนั้นเปลี่ยนไปจากเดิม จึงจำเป็นต้องปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์
โดยจะเป็นรูปแบบ การลงทะเบียน ณ จุดบริการ จะมีระบบรองรับและแจ้งประชาชนเมื่อเดินทางไปลงทะเบียนว่า มีวัคซีนสนับสนุนเพียงพอ ณ จุดบริการในวันนั้นหรือไม่ หากพร้อมฉีดแต่วัคซีนไม่พอในวันนั้นก็สามารถทำการลงทะเบียนเพื่อนัดฉีดในวันอื่นได้ โดยไม่ต้องเสียเวลามารอฉีดอีกในวันต่อไป แต่สามารถมาฉีดได้เลยตามที่ได้นัดหมายไว้ล่วงหน้าแล้ว และขอย้ำว่าช่องทางนี้เป็นการบริการเสริม ส่วนบริการหลักยังเป็นการลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อม
สำหรับในพื้นที่ กทม. จะกระจายจุดบริการวัคซีนทั้งในโรงพยาบาล สถานพยาบาล และหน่วยงาน 231 แห่ง สถานที่ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลอีก 25 แห่ง โดยเตรียมความพร้อมจัดเจ้าหน้าที่ดูแลอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่จะเดินทางมาสถานที่ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้ได้เปิดทดลองระบบแล้ว 4 แห่ง คือ 1.เซ็นทรัล ลาดพร้าว 2.สามย่านมิตรทาวน์ 3.เดอะมอลล์ บางกะปิ และ 4.บิ๊กซี บางบอน
อย่างไรก็ตาม หากในแต่ละจุดบริการมีวัคซีนเพียงพอในแต่ละวัน และมีวัคซีนสำรองเนื่องจากมีคนที่นัดแล้วแต่ไม่ได้มาฉีดตามนัด รัฐบาลก็มีแผนเปิดการฉีดวัคซีนแบบวอร์คอินได้
ต่อมาคือส่วนของ กรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครทั้งที่มีทะเบียนบ้านและที่ทำงานอยู่ก็แต่ชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านต่างจังหวัด ซึ่งจะอิงจากระบบผู้ประกันตนมาตรา 33 และข้อมูลจาก สปสช. เป็นหลัก ซึ่งคาดว่ามีอยู่ประมาณ 6 ล้านคน และประชาชนทั่วไปอายุ 18 – 59 ปี 10 เดือน และไม่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ลงทะเบียนทุกวันตั้งแต่ 06.00-22.00 น. มีด้วยกัน 3 ช่องทาง คือ
1.ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.ไทยร่วมใจ.com ตั้งแต่ 12.00 น. เป็นต้นไป
2.แอปพลิเคชัน เป๋าตัง สำหรับคนที่เคยเข้าร่วมโครงการของรัฐ เช่น คนละครึ่ง เราชนะ หรือโครงการอื่นๆ โดยจะมีช่องเขียนว่า ไทยร่วมใจ
3.ร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น ร้านแฟมิลี่ มาร์ท / ท็อปส์ เดลี่ และ มินิบิ๊กซี
นอกจากนี้ยังสายด่วน กสทช. กำหนดหมายเลข 1516 ทุกเครือข่าย รวม 450 คู่สายเพื่อตอบทุกคำถามที่ประชาชนสงสัย เกี่ยวกับการลงทะเบียนฉีดวัคซีนในครั้งนี้ระหว่างเวลา 08.00 – 20.00 น. ของทุกวัน
สำหรับการการจองทั้ง 3 ช่องทางนี้คาดว่าจะเริ่มฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.64 เป็นต้นไป ใน 25 จุดนอกโรงพยาบาลที่ทางกรุงเทพมหานครจัดเตรียมไว้ให้ 25 จุด
ต่อมาคือการ จองผ่านโรงพยาบาลเอกชน โดยข้อมูล ณ วันที่ 6 พ.ค.64 พบว่าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีอยู่ด้วยกัน 126 โรงพยาบาล แต่ก็วายจะเกิดเรื่องวุ่นวายขึ้น โดยเฉพาะกลับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า เนื่องจากวัคซีนล็อตใหม่ยังไม่มา ทำให้หลายโรงพยาบาลประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ออกไปก่อน รวมถึงบางแห่งก็เลื่อนการฉีดวัคซีนที่มีคิวฉีดในเดือน มิ.ย. ออกไปก่อนด้วย เช่น โรงพยาบาลวชิรพยาบาล และ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นต้น
ต่อมาคือในส่วนของพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งต้องยอมรับว่าในต่างจังหวัดไม่ค่อยเจอกับปัญหาเรื่องของการจองคิวฉีดวัคซีน เนื่องจาก ข้อมูลของประชาชนในจังหวัดถูกรวมรวบไว้แล้ว สามารถติดต่อจองคิวได้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็น สาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมถึง อสม. เดินตามบ้านเพื่อสำรวจจำนวนความต้องการ นอกเหนือจากแอปพลิเคชันไลน์ หมอพร้อม ดังนั้นจะเห็นว่าหลายจังหวัดไม่มีปัญหาเรื่องการจองคิวฉีดวัคซีนเมื่อเทียบกับในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เช่น จ.ลำปาง เป็นต้น
ขณะที่บางจังหวัด เช่น นนทบุรี ภูเก็ต ก็ตั้งระบบการช่องคิวในแต่ละจังหวัด เช่น นนท์พร้อม หรือ www.ภูเก็ตต้องชนะ.com
ข่าวจาก : PPTV Online
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ