เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ชี้แจงเรื่องการจัดหาวัคซีนโควิด ซิโนฟาร์ม เป็นตัวเลือก ใช้ระหว่างรอวัคซีนหลักที่กำลังผลิต เพื่อสนับสนุนรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข
จากกรณีเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 ราชกิจจานุเบกษา ประกาศอนุญาตให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีอำนาจในการตกลงเพื่อประสานความร่วมมือกับทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในต่างประเทศและองค์กรต่างประเทศ ในเรื่องการจัดสรรและนำเข้า วัคซีนโควิด-19 ซิโนฟาร์ม นั้น
เกี่ยวกับเรื่้องนี้ วันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Nithi Mahanonda ชี้แจงเหตุผลที่ราชวิทยาลัยฯ จะมาช่วยจัดหาวัคซีนตัวเลือก
เพราะคำนึงถึงสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ ยืนยันว่าเมื่อวัคซีนที่ผลิตในไทยสามารถผลิตและใช้ได้อย่างเพียงพอในการป้องกันการระบาด ทางราชวิทยาลัยฯ จะค่อย ๆ ลดปริมาณวัคซีนตัวเลือกนี้ลง ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนเรื่องกฎหมายเรื่องนำเข้าวัคซีนในภาวะฉุกเฉิน
ประกาศนี้ฉบับดังกล่าว เป็นไปตามความเห็นของสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของประเทศ โดยใช้ศักยภาพของราชวิทยาลัยในเรื่องวิชาการ วิจัย และการประสานงานติดต่อกับต่างประเทศ โดย ราชวิทยาลัยฯ และกระทรวงสาธารณสุข ทำงานประสานงานกันในเรื่องต่าง ๆ มาก่อนหน้านี้นานแล้ว เพื่อสุขภาพและการสาธารณสุขที่ดีของประเทศไทย
ขณะที่ ข่าวช่อง 3 รายงานว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เตรียมแถลงข่าว แนวทางการจัดสรรและนำเข้าวัคซีนทางเลือก ซิโนฟาร์ม โดยราชวิทยาลัยฯ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นำโดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในวันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม 2564 เวลา 13.30 น. – 14.30 น. ณ สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
ข่าวจาก : kapook
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Nithi Mahanonda
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ