ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แถลงจัดหาวัคซีนโควิดทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” เผยที่มาเป็นหน่วยงานรัฐ รับผิดชอบจัดหาวัคซีนทางเลือก แต่นำเข้าเองไม่ได้ ต้องมอบไบโอจีนีเทคดำเนินการแทน
เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ห้อง Auditorium ชั้น 2 อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ถนนแจ้งวัฒนะ ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาท(อย.) และ พล.อ.ต.นพ.สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แถลงข่าวบูรณาการความร่วมมือนำเข้าวัคซีนโควิดทางเลือก “ซิโนฟาร์ม”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงตอบคำถามประเด็นต่างๆ ศ.นพ.นิธิ กล่าวว่า จากสถานการณ์ของโรคโควิด 19 ในประเทศไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ.2559 ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี เป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ได้รับความเห็นชอบจากนายกฯ
ให้เป็นตัวแทนของรัฐบาลไทยในการจัดหาและนำเข้าวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงและได้รับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันได้เร็วที่สุด จึงมีความร่วมมือนำเข้าวัคซีนโควิดทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” ระหว่างราชวิทยาลัยฯ สธ. และ อย. ส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือเพื่อให้การกระจายวัคซีนในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างทั่วถึง
“วัคซีนซิโนฟาร์มที่นำเข้าเป็นวัคซีนที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้การรับรองแล้ว แต่การนำเข้าและขนส่งวัคซีนมีมาตรฐานสูงมาก ราชวิทยาลัยฯ ไม่สามารถทำเองได้ จึงมอบหมายให้ทำบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด เป็นตัวแทนดำเนินการเจรจากับผู้ผลิต ยื่นเอกสารขึ้นทะเบียนกับ อย. ล่าสุดได้รับการอนุมัติแล้ว รวมถึงการขนส่งด้วย” ศ.นพ.นิธิกล่าว
ศ.นพ.นิธิกล่าวว่า สำหรับการจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์ม จะหารือร่วมกับ สธ. ในการกระจายวัคซีนให้กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่สนใจจะจัดซื้อ ซึ่งราคาขายเราไม่คิดกำไร โดยจะรวมต้นทุนต่างๆ และค่าประกันวัคซีนกำหนดราคาขายราคาเดียวกันทั่วประเทศ คาดว่าไม่เกิน 1 พันบาทต่อเข็ม เบื้องต้นจะมีการนำเข้าภายใน มิ.ย. 1 ล้านโดส ส่วนเดือนอื่นๆ จะมีการเจรจาจำนวนต่อไปเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีเอกชนใดติดต่อซื้อแล้ว ศ.นพ.นิธิ กล่าวว่า ขณะนี้มีสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และบริษัท ปตท. แต่ยังมีรายอื่นๆด้วย อยู่ระหว่างการพิจารณา หลักๆ หากเอกชนรายใดจะซื้อไปฉีด จะต้องมีการควบคุมราคา เราเน้นเพื่อประชาชน เราต้องตรวจสอบว่าจะเอาไปฉีดจริง ไม่ใช่เอาไปขายต่อ เพราะต้องรายงานไปยังบริษัทผู้ผลิตด้วย ส่วนสถานที่ฉีด หากเป็นที่ รพ.จุฬาภรณ์ก็ต้องแยกชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะปนกับส่วนที่ รพ.จุฬาภรณ์ฉีดฝัคซีนฟรีของรัฐ แต่หากหน่วยงานต่างๆ จัดสถานที่ฉีดได้ก็เป็นเรื่องที่ดี
นายอนุทิน กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การจัดหาวัคซีนทางเลือกเป็นจริง ประเทศไทยมีวัคซีนทางเลือกให้แก่ประชาชนชาวไทยคู่ขนานกันไปกับที่รัฐจัดหาให้
นพ.ไพศาล กล่าวว่า วัคซีนซิโนฟาร์มของบริษัทไบโอจีนีเทค จำกัด เป็นผู้นำเข้าได้รับการอนุมัติขึ้นทะเบียนเป็นตัวที่ 5 ของไทย ซึ่งวัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm) เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccine) วัคซีนชนิดนี้กำหนดฉีด 2 เข็ม ระยะห่างกัน 21 ถึง 28 วันโดยวัคซีนนี้ได้รับการรับรองให้นำมาใช้ในภาวะฉุกเฉินโดยองค์การอนามัยโลกแล้ว
ข่าวจาก : Khaosod Online
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ