รู้จัก ‘ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์’ พร้อมเปิดงบการเงิน 5 ปีย้อนหลัง





รู้จัก “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” ผู้นำเข้าวัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม”​ (Sinopharm) ที่ได้รับการรับรองเป็นวัคซีนโควิดตัวที่ 5 จาก อย. พร้อมเปิดงบการเงินราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 5 ปีย้อนหลัง

วันนี้ “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” เป็นที่สนใจของหลายคน เนื่องจากเมื่อเร็วๆ นี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้บริการทางการแพทย์ในสถานการณ์โควิด-19 สามารถนำเข้า “วัคซีนโควิด” ได้เอง ซึ่งนับว่าจะเป็นวัคซีนตัวเลือกของคนไทย ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ยังคงความรุนแรง โดยวัคซีนที่มีการพูดถึงกันคือ “ซิโนฟาร์ม” ที่วันนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย.แล้ว

“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” จะพาไปทำความรู้จักกับ “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” ที่ไม่ได้เป็นแค่โรงพยาบาลเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งการเรียนการสอนและการวิจัยผลิตบุคลากรทางด้านการแพทย์ของไทย

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 18 ม.ค.2559 โดยเว็บไซต์ราชการกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พ.ร.บ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ.2559 ระบุว่า จัดตั้งขึ้นเป็นสถาบันการวิจัยและวิชาการชั้นสูง จัดการศึกษาทางวิชาการและวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม การแพทย์ และการสาธารณสุข

โดยถูกตั้งขึ้นในฐานะ “นิติบุคคล” เป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหาราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น

โดย พ.ร.บ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ.2559 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 18 เม.ย.2559 ทั้งนี้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีการแบ่งส่วนงานออกเป็น 4 ส่วนหลักๆ ได้แก่

1.สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีหน้าที่บริการจัดการกิจการทั่วไปของราชวิทยาลัย

2.สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ มีหน้าที่จัดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ทำการวิจัย นำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ และให้บริการทางวิชาการ

3.วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ มีหน้าที่จัดการศึกษาทางด้านแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ วิทยาศาสตร์การแพทย์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ ทำการวิจัย และสนับสนุนให้ทำการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ รวมถึงให้บริการในการบำบัดรักษาผู้ป่วย

4.สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ มีหน้าที่ดำเนินการวิจัย ส่งเสริม สนับสนุน และนำผลวิจัยไปใช้ประโยชน์และพัฒนากำลังคนระดับสูงทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม การแพทย์และการสาธารณสุข

หลังจากนั้นปี 2560 ได้มีการออก พ.ร.บ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 เป็นการแยกสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ออกจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยให้ไปอยู่ภายใต้มูลนิธิจุฬาภรณ์ และมีการแต่งตั้งประธานราชวิทยาลัยขึ้นมา ซึ่งประธานราชวิทยาลัยนี้ สามารถแต่งตั้งรองประธานราชสภาราชวิทยาลัยขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ตามมอบหมายได้

และล่าสุดราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 ส.ค.2561 ได้ออกประกาศสำนักงานนายกรัฐมนตรี เรื่องแต่งตั้งประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ให้ทรงดำรงตำแหน่งประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ตามมาตรา 6 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค.2561

“รายได้” ของราชวิทยาลัยมาจากไหน ?
ทั้งนี้ในส่วนของ รายได้ของราชวิทยาลัย มาจาก 7 ส่วนหลักๆ ได้แก่

1. เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปี

2. เงินและทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้แก่ราชวิทยาลัย

3. เงินกองทุนที่รัฐบาลหรือราชวิทยาลัยจัดตั้งขึ้น และรายได้หรือผลประโยชน์จากกองทุนดังกล่าว

4. ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน เบี้ยปรับ และค่าบริการต่างๆ ของราชวิทยาลัย

5. รายได้หรือผลประโยชน์ที่ได้มาจากการลงทุนหรือการร่วมลงทุนและจากทรัพย์สินของราชวิทยาลัย

6. รายได้หรือผลประโยชน์ที่ได้มาจากการใช้ที่ราชพัสดุ หรือจัดหาประโยยชน์ในที่ราชพัสดุที่ราชวิทยาลัยปกครอง ดูแล ใช้ หรือจัดหาประโยชน์

7. รายได้หรือผลประโยชน์อย่างอื่น

ทั้งนี้รายได้ของราชวิทยาลัย ถือเป็นรายได้ที่ไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายอื่น

 

ข่าวจาก : bangkokbiznews

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: