เนื้อหมู เนื้อไก่ เป็นวัตถุดิบหลักๆ ที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่นำมาประกอบอาหาร เนื่องจากมีประโยชน์ต่อร่างกาย รสชาติอร่อย และยังสามารถนำไปสร้างสรรค์อาหารได้หลากหลายเมนู รวมถึงยังหาซื้อได้ง่าย ดังนั้น เมื่อเกิดข่าวปลอมที่เกี่ยวกับโรคต่างๆ ทั้งในหมู หรือไก่ จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิด ซึ่งคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดข้อสงสัยจากผู้บริโภค
ล่าสุด ในสังคมออนไลน์มีการแชร์ข่าวปลอมเรื่อง “หมูไก่ติดเชื้อเอดส์ ห้ามกิน 6 เดือน” ซึ่งเป็นข้อความเก่าที่มีการดัดแปลงใหม่และแชร์วนซ้ำทุกปี หากค้นข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นนี้ใน google จะพบว่า ข่าวนี้มีการแพร่กระจายส่งต่อกันตั้งแต่ปี 2551 โดยอาจมีความเกี่ยวโยงกับการปล่อยข่าวเรื่อง คนฉีดเลือดเอดส์เข้าไปในหมู ซึ่งเป็นข่าวเท็จที่ปล่อย ตั้งแต่ปี 2535 หรือกว่า 28 ปีมาแล้ว
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง ข่าวปลอมนี้ถูกดัดแปลงเสริมแต่งข้อความและนำมาวนแชร์ซ้ำๆ กันทุกปี ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มีโทษหนักทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ มีมาตรการเฝ้าระวังโรคติดต่อในสัตว์ที่เข้มงวดและต่อเนื่องมาโดยตลอด ทั้งในหมู สัตว์ปีก โค-กระบือ และจากการส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบในทุกพื้นที่ของไทย ยังไม่เคยพบกรณีหมู-ไก่เป็นเอดส์ ผู้บริโภคมั่นใจได้
ขณะที่ ผศ.น.สพ.ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายเกี่ยวกับโรคเอดส์ที่เกิดขึ้นในสัตว์ว่า โรคนี้เกิดขึ้นได้ในแมว หรือเรียกว่าโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในแมว เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม Lentivirus เป็นโรคที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกันเหมือนกับโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในคน พบมากในแมวแถบทางเอเชีย เนื่องจากวิธีการเลี้ยงคล้ายกัน คือนิยม “เลี้ยงปล่อย” รวมถึงปัญหาแมวจรจัดที่มีมากในบ้านเรา จึงทำให้การแพร่กระจายของเชื้อเป็นไปได้ในวงกว้างและรวดเร็ว
ไวรัสเอดส์แมว เป็นไวรัสในกลุ่มเดียวกับไวรัสเอดส์ในคน ความรุนแรงของโรคเอดส์แมว (ในแมว) ก็ไม่ต่างจากเอดส์คน คือมีผลต่อการกดภูมิต้านทานของร่างกายให้ต่ำลง ทำให้ร่างกายอ่อนแอและง่ายต่อการแทรกแซงของเชื้อชนิดอื่น แต่ไวรัสนี้มีความจำเพาะกับแมวเท่านั้น (แม้จะเป็นเชื้อไวรัสในกลุ่มเดียวกันแต่ก็ติดข้ามสายพันธุ์กันไม่ได้) จึงสบายใจได้ว่าเอดส์แมวไม่ติดคน รวมถึงไม่ติดต่อไปยังสัตว์สายพันธุ์อื่นด้วย นอกจากตระกูลแมวด้วยกันเอง
อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงมีโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นในสัตว์ ผู้บริโภคจึงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเลือกซื้อเนื้อสัตว์ โดยพิจารณาจากแหล่งจำหน่ายที่ได้มาตรฐาน สะอาด ปลอดภัย ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ หรือตรา “ปศุสัตว์ OK” เมื่อซื้อกลับมาที่บ้านควรเก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสมและปรุงสุกก่อนรับประทานทุกครั้ง เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรคและสุขอนามัยที่ดี
ข่าวจาก : มติชน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ