เสียงตอบรับบทบาท “กองทัพบก” การทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนในห้วงสถานการณ์โควิด-19 ภาพรวมได้คะแนนเต็ม ทุกฝ่ายพึงพอใจในผลงาน
ทบ.ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล ศบค. ในการระดมสรรพกำลังทุกมิติสนับสนุนช่วยเหลือประเทศชาติในห้วงวิกฤติ ได้ผ่านพ้นไปด้วยดีจนสามารถควบคุมคลัสเตอร์ใหญ่หลายพื้นที่ให้อยู่ในวงจำกัด
จากการสำรวจความคิดเห็นประชาชน ทบ.ได้เสียงชื่นชมจากคนทุกภาคส่วน ในหลายภารกิจทั้ง การเปิดหน่วยจัดตั้ง รพ.สนาม จัดทำเตียงสนาม การดูแลป้องกันแนวชายแดน การจัดชุด “Army Delivery” บริจาคโลหิต เปิดวัดรับจัดงานศพ นำรพ.ทหาร รพ.ค่าย จัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีน ถือเป็นจุดเด่นของกองทัพบก
เสียงชื่นชมผลงาน “กองทัพ” ในช่วงสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ต่อการเข้าไปช่วยเหลือประชาชนในภาพรวมในครั้งนี้ถือว่า “สอบผ่าน” ทั้งการจัดตั้งศูนย์สนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อ โควิด-19 ศปม.และเหล่าทัพ ศูนย์ประสานงานต้านภัยโควิด ทบ. การเปิดหน่วยจัดตั้ง รพ.สนามของกองทัพเรือ การนำอากาศยานสนับสนุนภารกิจช่วยเหลือโควิดของกองทัพอากาศ
ขณะเดียวกัน “สวนดุสิต” ได้จัดทำโพล พร้อมลงสำรวจความคิดเห็นประชาชน ปรากฏว่า “เหล่าทัพ” ได้รับการตอบรับ และเสียงชื่นชมจากประชาชนทุกภาคส่วน ทั้งคนสูงวัย หนุ่มสาว ตลอดจนนิสิต นักศึกษา นักเรียน ต่างให้คะแนนความพึงพอใจกับบทบาททหารในห่วงที่ผ่านมา ได้ทำหน้าที่ได้ดีเยี่ยม และมีประสิทธิภาพต่อการช่วยเหลือประเทศชาติ ประชาชน โดยสมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะต่อสถานการณ์ที่บ้านเมืองเผชิญต่อเหตุการณ์อันเลวร้ายของโรคระบาดโควิด-19
เมื่อหันมาดูบทบาท “กองทัพบก” ที่ถือเป็นเหล่าทัพใหญ่ มีกำลังพล ยุทโธปกรณ์จำนวนมาก ได้ระดมสรรพกำลังทุกมิติสนับสนุนรัฐบาล พร้อมช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์โควิด ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ที่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยการเข้าร่วมสนับสนุนการทำงานของภาครัฐ และสาธารณสุขเพื่อยับยั้งการแพร่กระจายเชื้อ โควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ซึ่ง “รัฐบาล” และ “ศบค.” ได้บริหารจัดการและคลี่คลายผลกระทบในทุกด้านอย่างเป็นระบบภายใต้การสนับสนุนของทุกส่วนงาน เพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
โดยภารกิจสำคัญที่ “กองทัพบก” ดำเนินการมาตลอด คือการป้องกันแนวชายแดนของประเทศไทย โดยใช้ศักยภาพของยุทโธปกรณ์ เครื่องมือ และกำลังพลสกัดกั้นการนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศในทุกช่องทาง ต้องใช้กำลังพลกว่า 3,000 นายต่อวัน จากทุกกองทัพภาค เพื่อปฏิบัติภารกิจป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 สนับสนุนตามมาตรการของ ศบค. ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดที่สอดคล้องกับสถานการณ์
โดยข้อสั่งการของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. กำชับดำเนินการเฝ้าตรวจลาดตระเวนแนวชายแดนทั้งทางบกและทางน้ำตลอด 24 ชั่วโมง ป้องกันการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายโดยไม่ผ่านการคัดกรอง ทั้งให้บูรณาการร่วมกับฝ่ายปกครองในพื้นที่ตั้งจุดคัดกรองบริเวณจุดผ่านแดน จุดตรวจสายตรวจ และสถานกักกันเพื่อเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดในต้นปี 2563
นอกจากนี้ ทบ. ได้รับมอบให้ปฏิบัติภารกิจควบคุมโรค ณ พื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) และพื้นที่กักกันโรคระดับท้องถิ่น (Local Quarantine) โดยพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ ได้ส่งชุดคัดกรองชุดปฐมพยาบาล และชุดรักษาความปลอดภัย ดูแลผู้เข้าสังเกตอาการใน 12 แห่ง ปัจจุบันลดลงเหลือ 7 แห่ง รวมทั้งได้จัดกำลังสนับสนุนท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยในกระบวนการควบคุมและคัดกรองผู้ที่เดินทางชุดคัดกรอง ณ ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมืองมาอย่างต่อเนื่อง
และหลังจากเกิดการแพร่ระบาดขนาดใหญ่แบบ “คลัสเตอร์” ทบ.ได้จัดกำลังทหารเข้าช่วยบริหารจัดการและควบคุมการแพร่ระบาดในหลายคลัสเตอร์ อาทิ จ.สมุทรสาคร ที่เกิดการระบาดในระลอกที่ 2 โดยได้เข้าสนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม/ศูนย์ห่วงใยคนสาคร 9 แห่งบริหารจัดการพื้นที่ รักษาความปลอดภัย, จุดตรวจจุดสกัด จัดระเบียบการรับวัคซีน จนสถานการณ์ที่ จ.สมุทรสาคร ดีขึ้นเป็นลำดับ รวมถึงพื้นที่เรือนจำกลางเชียงใหม่ หลังเกิดการแพร่ระบาดในกลุ่มผู้ต้องขังแรกรับ ทบ.ส่งทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางด้านการแพทย์ พร้อมสิ่งอุปกรณ์ จากโรงพยาบาลค่ายกาวิละ และโรงพยาบาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเข้าสนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ต้องใช้ทั้งด้านการแพทย์และงานด้านความมั่นคง
ขณะที่ พ.ท.หญิง นุชระวี แจ่มจำรัส ผู้ช่วยโฆษก ทบ. เสริมด้วยว่า ภารกิจ ทบ.อีกส่วนการจัดตั้ง รพ.สนาม โดย ทบ.ดำเนินตามนโยบายกระทรวงกลาโหม จัดตั้งเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่อาการไม่รุนแรง หรือกักตัวเพื่อสังเกตอาการ เพื่อเป็นการช่วยลดภาระของโรงพยาบาลสาธารณสุข โดยใช้สถานที่ในหน่วยทหาร สิ่งอุปกรณ์ที่มี รวมถึงกำลังพล จำนวน 21 แห่ง สามารถรองรับได้ 3,350 เตียง โดยมีหน่วย กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1, มณฑลทหารบกที่ 11, กรมพลาธิการทหารบก, ศูนย์การทหารราบ, กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 15, กองพลทหารราบที่ 15, กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 5, กองพันเสนารักษ์ที่ 1 เป็นต้น
รวมทั้งจัดเตรียมโรงพยาบาลสนาม สนับสนุนโรงพยาบาลสังกัดกองทัพบกเพิ่มเติม ในเขตพื้นที่กรุงเทพ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสนามกองทัพบก (เกียกกาย) และโรงพยาบาลสนามกองทัพบก (กรมยุทธศึกษาทหารบก) ซึ่งบริหารจัดการโดย รพ.พระมงกุฎเกล้า และโรงพยาบาลสนามในพื้นที่กองทัพภาครวม 36 แห่ง สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 3,538 เตียง
“ทบ.ยังระดมศักยภาพทุกมิติ สนับสนุนกำลังพลในการก่อสร้าง การจัดเตรียมสถานที่ ช่วยขนย้ายสิ่งอุปกรณ์ เพื่อจัดตั้ง รพ.สนาม ของส่วนราชการ กทม. และจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ พร้อมกับได้สนับสนุนสิ่งอุปกรณ์ เตียง, เครื่องนอน ให้กับโรงพยาบาลสนามประจำจังหวัด 20 พร้อมตั้ง ‘ศูนย์ควบคุมการเคลื่อนย้าย ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงกองทัพบก’ สนับสนุนยานพาหนะ กำลังพลประจำรถ เคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลจากบ้านไปยังโรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลหลักโดยประสานการปฏิบัติร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ศูนย์เอราวัณ, ศูนย์นเรนทร และศูนย์แรกรับผู้ป่วย ตั้งแต่ 27 เม.ย. 64 กระทั่ง 3 พ.ค. 64 ได้จัดตั้ง ‘ศูนย์ประสานงานต้านภัยโควิด ทบ.’ ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางประสานข้อมูลและความช่วยเหลือให้กับประชาชน ผู้ติดเชื้อ หรือครอบครัว ในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด19 การรับ-ส่งผู้ป่วย การเคลื่อนย้ายศพผู้เสียชีวิตจากโรคโควิดไปประกอบพิธียังฌาปนสถาน”
นอกจากนี้บทบาทที่สำคัญ ทบ.
ลงช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการดูแลพื้นที่สาธารณะ เช่น ชุมชน วัด สถานศึกษา โดยจัดกำลังพลจิตอาสาเข้าฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค และจัดกิจกรรม Big cleaning ทำความสะอาดพร้อมปรับภูมิทัศน์ของสถานที่ส่วนรวมให้มีความสะอาดปลอดภัยลดการสะสมและการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโดยจะมีการกำหนดแผนงานตามห้วงระยะเวลาร่วมกับทางชุมชน โรงเรียน เพื่อคงมาตรการป้องกันไว้อย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะคลี่คลาย
ตามมาด้วยการจัดชุด “Army Delivery” ส่งมอบหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ อาหารปรุงสุก รวมถึงสิ่งของอุปโภคบริโภคถึงบ้าน บริการงานช่าง ตัดผม ตรวจสุขภาพ จัดทำตู้ปันสุข บริการถึงที่ พร้อมกับนำรถครัวสนามไปประกอบอาหารปรุงสุก แจกจ่ายให้กับประชาชนในชุมชนพื้นที่ต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและดูแลช่วยเหลือในขั้นต้น รวมถึงผลผลิตทางการเกษตรของหน่วยทหารในโครงการทหารพันธุ์ดี, โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ และศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ผ่าน “รถปันสุข” ส่งถึงที่พักอาศัยโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการระบาด เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
ขณะที่ สถานการณ์ในห้วงเปราะบาง ทบ.ยังได้ส่งชุดปฏิบัติการกิจการพลเรือน มวลชนเครือข่าย ของหน่วยทหารในพื้นที่ออกรณรงค์ตามชุมชน สถานที่สาธารณะ แหล่งที่มีผู้คนมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และความเข้าใจในแนวทางการให้วัคซีนโควิด-19 ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ เนื่องจากขณะนี้ได้เริ่มเข้าสู่การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนตามการบริหารจัดการวัคซีนของ ศบค. และ สธ. ซึ่งการฉีดวัคซีนเป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด โดย กองทัพบกได้ใช้การสื่อสารทุกช่องทางทั้งภายในองค์กรและการสื่อสารกับประชาชนให้มีความรู้ความเข้าใจทันต่อข้อมูลข่าวสาร สามารถเข้าร่วมและได้รับประโยชน์จากโครงการฉีดวัคซีนของรัฐบาลอย่างเต็มที่
ส่วนโครงการ “บริจาคโลหิต จิตอาสาเพื่อชาติ” ทบ.ได้เชิญชวนกำลังพลจิตอาสา ครอบครัว ตลอดจนทหารกองประจำการที่ร่างกายมีความพร้อม มีจิตเสียสละเพื่อส่วนรวม ร่วมบริจาคโลหิตให้กับสภากาชาดไทยและสถานพยาบาลทั่วประเทศ ตั้งแต่ ม.ค.64 จนถึงปัจจุบันสามารถสำรองโลหิตได้แล้ว 20 ล้านซีซี โดยจะยังคงเพิ่มจำนวนการบริจาคโลหิตให้สูงขึ้น เพื่อรองรับการดูแลผู้ป่วยจากโควิดระลอกใหม่นี้
พร้อมนำ วัดอาวุธวิกสิตาราม เขตบางพลัด วัดโสมนัสวรวิหาร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย วัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต เขตบางเขน และในส่วนภูมิภาคพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 อีก 1 แห่ง คือวัดสุทธจินดาวรวิหาร อ.เมือง จ.นครราชสีมา รวมทั้งหมด 4 แห่ง ในการประกอบพิธีทางศาสนา ฌาปนกิจแก่ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เพราะ ฌาปนสถานของ ทบ. มีความพร้อมและสามารถปฏิบัติได้ตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข และจะยังดำเนินอนุเคราะฌาปนสถานต่อไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
ขณะที่แผนการให้บริการวัคซีนโควิด-19 เป็น “วาระแห่งชาติ” และมีกำหนดการฉีดวัคซีนให้ประชาชนที่ลงทะเบียนในระบบ “หมอพร้อม” เริ่มในวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา “กองทัพบก” โดย “กรมแพทย์ทหารบก” เตรียมการและประสานงานกับสาธารณสุขเพื่อร่วมดำเนินการฉีดวัคซีนดังกล่าวตามแผนการจัดสรรในแต่ละจังหวัดอย่างเต็มที่ เพื่อร่วมสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชน ตามมาตรการป้องกันโรค และช่วยคลี่คลายสถานการณ์โควิดของประเทศไทยให้กลับมาสู่ปกติได้ในที่สุด โดยโรงพยาบาลกองทัพบกทุกแห่งทั่วประเทศ ได้ใช้กำลังพลสายแพทย์ 950 นาย สนับสนุนร่วมฉีดวัคซีนให้ประชาชน พร้อมจัดบุคลากรสำรองที่เคยปฏิบัติงานสายแพทย์ เข้าสนับสนุนการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในโรงพยาบาลสังกัดในกองทัพบก รวมทั้งสถานที่ที่ใช้ในการฉีดวัคซีนจำนวน 38 แห่ง ทั้งโรงพยาบาลค่าย หรืออาคารของหน่วยทหารตามจังหวัดต่าง ๆ รวมทั้งการจัดกำลังพลจิตอาสาช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชน
ทั้งนี้ “กองทัพบก”
ได้ให้ความสำคัญกับการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการเฝ้าระวังและค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก ล่าสุดได้เตรียมจัดหารถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย รถปฏิบัติการตรวจเชื้อเคลื่อนที่ และเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็นในการตรวจหาเชื้อ โควิด-19 เพื่อให้การวิเคราะห์ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการสามารถดำเนินได้อย่างรวดเร็ว โดยมีแผนมอบให้กรมการแพทย์ทหารบกนำไปใช้ในการตรวจหาเชื้อให้กับกำลังพลและประชาชนกลุ่มเสี่ยง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ไม่ให้แพร่ระบาดและสามารถออกมาตรการควบคุมสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที
ดังนั้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในครั้งนี้ “กองทัพบก” ได้ระดมสรรพกำลังใช้ศักยภาพทางทหารและทรัพยากรที่มีอยู่ ทั้งกำลังพล สิ่งอุปกรณ์ ยุทโธปกรณ์เพื่อสนับสนุนทุกภาคส่วน คลี่คลายสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ที่ถือเป็นภัยคุกคามของมวลมนุษยชาติอย่างเต็มขีดความสามารถ
โดยในภาพรวม “กองทัพบก” ขอให้มั่นใจในกำลังพลทุกนาย จะเสียสละทุ่มเทแรงกายแรงใจ ช่วยเหลืออำนวยความสะดวก ตลอดจนอยู่เคียงข้างพี่น้องประชาชน ให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปอย่างปลอดภัยแน่นอน.
ข่าวจาก : ไทยรัฐออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ