มาตรการห้ามกินอาหารในร้านกระทบหนัก นายกฯข้าวสาร เผยร้านอาหารปิดตัวลงแล้วกว่า 2 หมื่นราย เสียหายเดือนละ 4-5 พันล้าน
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม นายสง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา สมาคมฯได้มีโอกาสเข้าพบนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหารือการฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกอบการในถนนข้าวสารและใกล้เคียงประมาณ 1,500 ราย และแนวทางนำร่องย่านถนนข้าวสารเป็นถนนสีขาว ที่สามารถเปิดให้บริการบนมาตรการความปลอดเชื้อไวรัสโควิด ซึ่งได้รับการยืนยันในเรื่องการจัดหาวัคซีนและเร่งฉีดให้ผู้ประกอบการในเร็วๆนี้
โดยผู้ประกอบการเชื่อว่าการเข้าถึงวัคซีนได้เร็วจะเป็นการป้องกันได้อีกทางแม้จะเกิดการระบาดของโควิดรอบ 4 หรือไวรัสกลายพันธุ์ เพราะหากล่าช้าจะสร้างความเสียหายต่อผู้ประกอบการในกลุ่มร้านอาหารอย่างหนักและกดดันการปิดกิจการเพิ่มจากร้านอาหารในระบบปิดตัวแล้วกว่า 20,000 ราย จากที่ตัวเลขในระบบ 200,000 ราย ประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นเดือนละ 4,000-5,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นอย่างนี้มาต่อเนื่องแล้ว 4 เดือน
” ผู้ประกอบการกังวลมากต่อการระบาดโควิดระลอก 4 หากรัฐบาลยังไม่อาจควบคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ และควบคุมการแพร่ระบาดได้ล้าช้า จะทำให้ธุรกิจและระบบเศรษฐกิจภาคบริการพังหนักขึ้น อีกทั้งกังวลต่อท่าทีอารมณ์ขันเกินไปของนายกรัฐมนตรี ดูเหมือนนายกรัฐมนตรีไม่ซีเรียส ทำให้เกิดระแวงและวิพากวิจารณ์ต่ออารมณ์และวุฒิภาวะการเป็นนายกรัฐมมนตรี ซึ่งผู้นำควรมีท่าทีซีเรียสจะเป็นผลจิตวิทยาให้ประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลจะดูแลจริงจัง และควรมีแผนงานที่ชัดเจนกว่านี้ นายกรัฐมนตรีควรให้ทุกหน่วยงานออกมาชี้แจงว่าภายใน 30 วันจะทำอะไรบ้าง ทั้งเรื่องสาธารณสุขดูแลป้องกันไวรัส ตั้งแต่จัดหาวัคซีน กระจายฉีดวัคซีน การจัดหาสถานที่และเตียงรับผู้ป่วย เป็นต้น และทำไปพร้อมกับการดูแลภาคเศรษฐกิจ ธุรกิจเราวิตกว่าหากเป็นอย่างนี้ ภายในปีนี้เชื่้อว่าการล็อกดาวน์อาจเป็นแบบปิดๆเปิดๆอีกหลายรอบ ความถดถอยของระบบเศรษฐกิจจะย่้ำแย่กว่าปีก่อนได้ ” นายสง่า กล่าว
ข่าวจาก : มติชน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ