อธิบดีกรมควบคุมโรคคาดลงนามสั่งซื้อ”วัคซีนไฟเซอร์” 20 ล้านโดสในสัปดาห์นี้ ตอบชัดทำไมยังซื้อ “ซิโนแวค” ทั้งที่ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคต่ำที่สุด
เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีโซเชียลมีการติดแฮชแท็กทวงคืนวัคซีนโมเดอร์นา ประชาชนไม่ต้องจ่ายเงิน ว่า วัคซีน mRNA นั้นมี 2 ตัว คือโมเดอร์นา และไฟเซอร์
ซึ่งถ้าพูดถึงประสิทธิภาพ ผลข้างเคียงนั้นมีความใกล้เคียงกัน แล้วรัฐบาลเลือกที่จะใช้ไฟเซอร์แล้ว ส่วนโมเดอร์นาถูกกำหนดให้เป็นวัคซีนทางเลือก
ซึ่งภาคเอกชนสามารถจัดหามาเสริมเพิ่มเติมให้ประชาชนได้ ซึ่งเข้าใจว่ามี 5 ล้านโดส ล่าสุด ครม.ได้อนุมัติให้กรมควบคุมโรคลงนามในสัญญาซื้อจำนวน 20 ล้านโดส และ มีมติให้รับคำแนะนำของอัยการสูงสุดไปเจรจรากับบริษัทไฟเซอร์ ว่าสัญญาส่วนไหนที่จะสามารถปรับปรุงได้บ้าง ซึ่งกรมควบคุมโรค มีการนัดหมายกับไฟเซอร์ วันนี้ พรุ่งนี้ และจะมีการลงนามในสัญญาภายในสัปดาห์นี้ เป็นไปตามกรอบเป้าหมายที่ครม.ให้คำแนะนำมา ส่วนกรณีที่สหรัฐฯ จะมีการบริจาคไฟเซอร์ให้ประเทศไทย 1.5 ล้านโดสนั้น มีการลงนามแล้วเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (7 ก.ค.) จะเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป โดยวัคซีนจะเข้าสู่ประเทศไทยเร็วๆ นี้
เมื่อถามถึงกรณีที่มีรายงานวัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคต่ำที่สุดทำไมรัฐบาลจึงยังมีมติสั่งซื้อเข้ามาเพิ่ม นพ.โอกาส กล่าวว่า เรื่องการใช้วัคซีนต้องมอง 2 ส่วน คือเรื่องประสิทธิภาพ และความปลอดภัย ขณะนี้ประเทศไทยเรามีแผนการสั่งซื้อวัคซีน ทั้งซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า และไฟเซอร์ วันนี้มีการทบทวนข้อมูลก็ต้องชี้แจงว่าประสิทธิภาพของวัคซีนจะมีการตรวจ คือ
1. เจาะเลือดตรวจดูว่าภูมิคุ้มกันขึ้นเป็นตัวเลขเท่าไหร่ 2. การทดสอบในมนุษย์จำนวนมาก แต่ในความเป็นจริง เวลาฉีดวัคซีนในแต่ละประเทศนั้น จะมีการทดสอบวัคประสิทธิภาพจากการใช้จริงว่าป้องกันโรคได้อย่างไร ซึ่งทั้ง 3 ตัวที่ประเทศไทยใช้และมีแผนนำมาใช้นั้น ไม่มีตัวใดป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่ยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันได้อยู่ บางตัวกันได้ 80%, 90% หรือ 60 % ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่ยืนยันว่าทุกตัวที่เราเอามาใช้นั้นมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้
“จะเห็นคนชอบพูดว่าวัคซีนไม่มีประสิทธิภาพนั้นไม่ใช่เลย ถ้าเทียบกับการไม่ฉีดวัคซีนเลยนั้นสามารถลดการติดเชื้อได้ ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แต่สิ่งที่เหมือนกันของวัคซีนทั้ง 3 ชนิดคือสามารถลดการป่วยหนัก ลดการนอน รพ. ลดการใช้ไอซียูซึ่งเราขาดแคลนอยู่ ตรงนี้เห็นตรงกันทุกรายงานทั้งภาคสนาม การป่วยหนัก สามารถป้องกันการเสียชีวิตได้เกือบ 90% เกือบทุกตัว
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ประการต่อมาเรื่องความปลอดภัย แรกๆ ที่กังวลเรื่องการใช้วัคซีนแอสตร้าฯ แล้วเกิดลิ่มเลือดอุดตัน ทางผู้เชี่ยวชาญพยายามอธิบายหลายครั้งว่า ภาวะนี้เกิดในคนฝรั่งผิวขาว แต่คนเอเชียเกิดน้อย ซึ่งตอนหลังเราฉีดแอสตร้าฯ ไป 4 ล้านโดส แทบไม่มีข่าวเกิดลิ่มเลือดในคนไทยเลย
แต่ต้องติดตามข้อมูลอยู่ สำหรับซิโนแวค เป็นเทคโนโลยีเก่า ผลข้างเคียงน้อยมาก เห็นตรงกันว่าเทียบแล้วปลอดภัยที่สุด ส่วนไฟเซอร์ หากติดตามข่าวจะมีข้อกังวลเล็กๆ
กรณีที่ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (CDC) พบอุบัติการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ในคนหนุ่มอายุน้อย มากขึ้น โดยคาดว่าเกิดจากวัคซีน อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 ตัว เมื่อเทียบประสิทธิภาพ อาการข้างเคียง ความปลอดภัย กับประโยชน์ และโทษนั้น การฉีดวัคซีนมีประโยชน์มากกว่า วันนี้ประเทศไทยฉีดแล้ว 11 ล้านโดส ก็จะเร่งดำเนินการฉีดต่อไป
ข่าวจาก : new18
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ