“วราวุธ” เผย อากาศ รอบโรงงานหมิงตี้ ปลอดภัย- ผลตรวจน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน รอผลแล็ปชัดเจน 9 ก.ค.นี้
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 8 ก.ค. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ผ่านวีดีโอคอล ถึงผลกระทบด้านอากาศและน้ำจากเหตุไฟไหม้ บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ซ.กิ่งแก้ว อำเภอบางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติก ว่า
ขณะนี้คุณภาพอากาศรอบบริเวณโรงงาน ถือว่าอยู่ในสภาพปลอดภัย แต่ภายในโรงงานเองยังมีค่าสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย หรือ Volatile Organic Compounds, VOCs อยู่ในระดับสูง แต่ยังไม่ถือว่าเป็นอันตราย
ทั้งนี้ คุณภาพอากาศโดยรอบโรงงาน ถือว่าอยู่ในโซนปลอดภัยแก่ประชาชน แต่สิ่งที่สำคัญที่หลายฝ่ายเป็นห่วงขณะนี้ คือปริมาณสารเคมีที่ตกค้าง อยู่ในตามจุดต่างๆเช่น ท่อระบายน้ำ แหล่งน้ำ ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ไปตรวจสอบบึงด้านหลังโรงงาน และคลองชวดลาดข้าว 2 จุด คลองอาจารย์พร 1 จุด และ ท่อระบายน้ำก่อนไหลลงคลองอีก 2 จุด และ ร่องระบายน้ำหน้าโรงงานอีก 1 จุด
แต่ละจุด พารามิเตอร์ได้ทดสอบไปปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำ สารสไตรีน สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย น้ำมัน ไขมัน ซึ่งจากการตรวจสอบ สามารถเห็นค่าได้เลย คือ ค่านำไฟฟ้า และ ค่าปริมาณที่สำคัญ คือ ออกซิเจนที่ละลายในน้ำ ในแหล่งน้ำไม่ว่าเป็นบึง หรือคลอง แหล่งน้ำธรรมชาติ ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ได้มาตรฐานคุณภาพของน้ำ แต่ส่วนที่อยู่ในร่องน้ำ ท่อระบายน้ำ ก็เป็นไปตามคาดคือ มีลักษณะน้ำเน่าเสียเป็นปกติ ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำต่ำกว่ามาตรฐาน
ส่วนที่ส่งไปให้ห้องแล็ปวิเคราะห์คือ ละลายในน้ำ สารสไตรีน สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย น้ำมัน ไขมัน ในวันที่ 9 ก.ค. เราจะทราบผลว่าตัวอย่างที่เราส่งไปเหล่านั้น มีผลเป็นอย่างไร ส่วนมาตรการควบคุมการระบายน้ำในพื้นที่ของโรงงานนั้น ขณะนี้ทางกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความร่วมมือในการปิดเส้นทางน้ำ และ ปิดประตูระบายน้ำในซีกตะวันตกเป็นที่เรียบร้อย ส่วนในท้องถิ่น ก็มีการปิดทางระบายน้ำซีกตะวันออก เพื่อควบคุมการระบายน้ำที่ปนเปื้อนไม่ให้ลงไปแหล่งน้ำธรรมชาติ
ขอเรียนประชาชนว่า ผลแล็ปที่จะออกมาในอีก 24ชั่วโมงนั้นขอให้ทุกคนทราบว่าลักษณะของสารสไตรีน เป็นสารที่มีความถ่วงจำเพาะของน้อยกว่าน้ำ แปลว่าเวลาผสมกับน้ำแล้ว จะลอยอยู่เหนือผิวน้ำ และสารดังกล่าว มีจุดเดือดต่ำ แปลว่าโอกาสจะละเหยขึ้นไปนั้นมีสูง
หากไปอยู่ตามท่อระบายน้ำ ก็คาดว่าปริมาณ สารสไตรีน ที่ตกค้างเมื่อผ่านไป 24-48 ชั่วโมง ก็ระเหยไปได้ในเร็ววัน ส่วนค่าสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย และ คราบน้ำมัน ไขมัน เราก็จะได้ทราบผลในวันที่ 9 ก.ค. อย่างเป็นทางการว่ามีปริมาณอยู่เท่าไหร่ ซึ่งก็เชื่อว่าน่าจะอยู่ในปริมาณที่ปลอดภัย
ที่ผ่านมาทางกรมควบคุมมลพิษได้ประสารงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ และ อีกหลายหน่วยงานในการฉีดสารดับเพลิงโฟม F-500 บริเวณรอบถังสไตรีนแล้วประมาณร้อยละ80 และ สาร DESA อีกตัวหนึงคือ ออร์แกนิกเปอร์ออกไซด์ปริมาณ 600 ลิตรเติมลงไปในถังสไตรีน เพื่อให้ทำปฏิกิริยากับสไตรีนจากของเหลวจับตัวให้เป็นก้อน จะทำให้สามารถลำเลียงสารสไตรีนเหล่านั้นออกมา กำจัดได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดโอกาสที่จะเกิดการปะทุของเชื้อเพลิง
อย่างไรก็ตามการประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการเป็นอย่างดี เพราะตั้งแต่ปี 2537 จังหวัดสมุทรปราการถูกกำหนดเป็นพื้นที่เขตควบคุมมลพิษ นั้นหมายความว่าท้องถิ่น จะสามารถตั้งงบประมาณในการฟื้นฟูพื้นที่โดยรอบโรงงานได้ เพราะอยู่ภายใต้กฎหมายควบคุมมลพิษอยู่แล้ว และ ที่ผ่านมาทางจังหวัดได้ให้ความร่วมมือทุกฝ่าย ซึ่งต้องขอขอบคุณทางจังหวัดสมุทรปราการที่กำลังเร่งแก้ปัญหาให้ประชาชน
ข่าวจาก ข่าวสดออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ