ศบค. เคาะแล้ว เวลาเปิด-ปิดร้านสะดวกซื้อ ปิดระบบขนส่งสาธารณะ สวนสาธารณะปิดกี่ทุ่ม พร้อมขอ ประชาชนงดเดินทางโดยไม่จำเป็น
วันที่ 9 ก.ค.2564 รายงานข่าวจากที่ประชุม ศบค. เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามข้อเสนอยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรค โควิด-19 สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล (นครปฐมนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร) โดยให้มีการยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ยึดหลักการ ดังนี้
1.จำกัดการเดินทางของประชาชนทั้งออกจากบ้านและข้ามจังหวัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ โดยขอให้เวิร์คฟอร์มโฮม( WFH) ให้มากที่สุด ยกเว้นงานบริการประชาชนและงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภค, ขอความร่วมมือจากประชาชนงดการเดินทางโดยไม่จำเป็น ยกเว้นการจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภค การไปโรงพยาบาล ฉีดวัคซีนหรือมีความจำเป็นที่จะต้องออกไปทำงาน,
จำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด, ขอความร่วมมือผู้ประกอบการลดการจัดบริการยานพาหนะของขนส่งสาธารณะที่ต้องเดินทางจากพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลทั้งบกและอากาศการขนส่งยกเว้นการขนส่งสินค้า, ลดการรวมตัวทำกิจกรรมร่วมกันทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน เช่น งดการจัดอบรม งดจัดประชุม งดจัดสอบหรือกลับเข้าสถานศึกษา
2.ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรคได้แก่ ปิดสถานที่เสี่ยงการติดโรค เช่น นวดแผนโบราณ (ยกเว้นนวดเท้า) สปา สถานเสริมความงาม ร้านสะดวกซื้อปิดเวลา 21.00-04.00 น. ห้างสรรพสินค้าเปิดได้เฉพาะร้านอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภค เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร ร้านเครื่องมือสื่อสาร ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ โดยเปิดได้จนถึงเวลา 21.00 น.
ร้านอาหารเปิดขายได้ แต่ห้ามบริโภคในร้าน ห้ามจำหน่ายสุราเปิดได้ไม่เกิน 21.00 น. ส่วนระบบขนส่งสาธารณะปิดเวลา 23.00-03.00 น. กำหนดเวลาปิดสวนสาธารณะ ในเวลา 21.00 น.
3.ปรับแผนการฉีดวัคซีนไปต่างจังหวัดและมาระดมการฉีดวัคซีนที่มีอยู่ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุและโรคเรื้อรังในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
4.ปรับระบบบริการตรวจคัดกรองและรักษาพยาบาล ให้กรุงเทพมหานครและจังหวัดเร่งเพิ่มบริการตรวจคัดกรองและปรับระบบการบริการรักษาพยาบาล โดยเร่งให้มีการจัดบริการแบบ โฮม ไอโซเรชั่น และ คอมมูนิตี้ ไอโซเรชั่น ให้เหมาะสมและเพียงพอกับสถานการณ์และเชื่อมโยงกับหน่วยบริการปฐมภูมิ
เช่น คลินิกบริการอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร โดยมี สปสช. ในการจัดบริการ รวมทั้งให้หน่วยบริการจัดช่องทางด่วนในการตรวจคัดกรองและรักษาให้กับกลุ่มผู้สูงอายุผู้มีโรคประจำตัวและโรคเรื้อรัง
5.เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐเอกชนภาคประชาสังคมและประชาชนในการป้องกันตนเองตรวจคัดกรองและดูแลรักษาพยาบาล ดังนี้ ขอความร่วมมือให้ประชาชนทุกคนเน้นมาตรการป้องกันส่วนบุคคลสวมหน้ากากอนามัย งดคลุกคลีใกล้ชิดกัน หรือรับประทานอาหารร่วมกันทั้งในบ้านและสถานที่ทำงาน,
เน้นย้ำทุกหน่วยงานและผู้ประกอบการดำเนินการกำกับติดตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคลในสถานประกอบการหรือสถานที่ทำงาน, สร้างการมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชน ภาคประชาสังคมในการจัดบริการในการจัดบริการตรวจคัดกรองและดูแลรักษาพยาบาล
ข่าวจาก : ข่าวสด
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ