กรรชัย ท็อปฟอร์มอีก ปม ศธ. ขอความร่วมมือคืนค่าเทอม หลังผู้ปกครองร้องโรงเรียนช่วยลดค่าเทอมช่วงเรียนออนไลน์ ถามกลับ ไม่ขอความร่วมมือ แต่เป็นการสั่งไม่ได้เหรอ ด้านรมต. ศธ. ชี้ ไม่มีกฎหมายรองรับในการออกคำสั่ง
จากกรณีที่ประกาศจาก ศบค. ล่าสุดวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 ที่มีมาตรการล็อกดาวน์ – เคอร์ฟิว 10 จังหวัดควบคุมสูงสุด ซึ่ง 1 ในมาตรการคือการให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนออนไลน์ 100 % นั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้วันที่ 9 กรกฎาคม 2564 รายการโหนกระแส ดำเนินรายการโดยหนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 สัมภาษณ์ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กรณีภาครัฐประกาศให้เรียนออนไลน์ แต่รายได้ผู้ปกครองไม่มี ขณะที่ค่าเทอมยังเท่าเดิม จะมีมาตรการช่วยเหลือได้อย่างไรบ้าง
ท่านเองมาดำรงตำแหน่งประมาณเท่าไหร่แล้ว ?
ตรีนุช : 3 เดือนแล้วค่ะ เพิ่งเข้ามาค่ะ ไม่ถึงกับเข้ามาสังคายนา แต่เข้ามาดูแลสิ่งที่เราสามารถกำกับดูแลได้ ในช่วงเวลาแบบนี้ค่ะ
สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น มีการประกาศให้เปิดเทอมทั้งที่สถานการณ์เลวร้าย สุดท้ายส่งผลให้นักเรียนจำนวนไม่น้อยติดโควิด 19 ยกตัวอย่างคลัสเตอร์ฟันน้ำนม เด็กรับเชื้อจากคุณยาย เด็กเอาไปติดเพื่อน ?
ตรีนุช : ขอย้อนกลับไปนิดนึงก่อน ก่อนที่จะเปิดโรงเรียน วันที่ 17 พฤษภาคม 2564 วันนี้ต้องยอมรับว่าเราอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ กระทรวงศึกษาธิการมอนิเตอร์สถานการณ์ตลอดเวลา ภายใต้ ศบค. ฉะนั้น 17 พพฤษภาคม 2564 เราจะเปิดเทอม สถานการณ์ตอนนั้นเริ่มน่ากังวล เรามีการเลื่อนเปิดเรียนไปวันที่ 1 พอวันที่ 1 เราคิดว่าเราจะเปิดได้ ช่วงนั้นมีเสียงหลายทางมาก
บางโรงเรียนพร้อมที่จะเปิด แต่บางโรงเรียนไม่พร้อมเปิด ณ วันที่ 1 เราจึงประกาศไปเป็นวันที่ 14 แต่เราก็เปิดช่องทางไว้ว่าโรงเรียนใด สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ก่อนวันที่ 1 ก็สามารถเปิดได้ อยากให้มองภาพประเทศไทยในบริบทความหลากหลายในเรื่องการศึกษา เฉพาะในสังกัด สพฐ. เรามีโรงเรียน 3 หมื่นโรงเรียนในประเทศไทย
โรงเรียนที่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก เด็กต่ำกว่า 120 คน มีอยู่ 1.5 หมื่นโรงเรียน เขาสามารถเรียนภายใต้มาตรการ Social Ditancing ได้ ดิฉันเองลงไปพื้นที่เชียงใหม่ล่าสุด ขอนแก่น โรงเรียนแห่งหนึ่งมี 200 คน ผอ. บอกเลยว่าเขาพร้อมเปิดโรงเรียนมาก เนื่องจากผู้ปกครองส่วนใหญ่ต้องประกอบสัมมาอาชีพ ไม่มีคนที่จะดูแลเด็กที่บ้าน
ดังนั้นโรงเรียนจึงเหมือนบ้านที่สองสำหรับเขา กำลังจะพูดว่าภายใต้โรงเรียนทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศไทย เรามีสถานการณ์การแพร่กระจายโควิด 19 ไม่เท่าเทียมกัน ในบางพื้นที่เขาสามารถเปิดได้ เราได้ให้อำนาจ เราได้กระจายอำนาจ ได้มอบตรงนี้ให้ส่วนผู้ว่าราชการจังหวัด ประธาน ศบค. จังหวัด โรคติดต่อจังหวัดในการตัดสินใจ เพราะผู้ว่าฯ รู้พื้นที่ดีกว่ากระทรวงแน่นอน ว่าเขาแตกต่างกันยังไง
ฉะนั้นก่อนที่จะเปิด ไม่ได้อยู่เฉย ๆ แล้วเปิดเลย เรามีขั้นตอนชัดเจนคือสาธารณสุขในพื้นที่กับ ศบค. จังหวัดได้มีการตรวจสอบโรงเรียนก่อน ต้องตรวจคุณภาพโรงเรียนก่อนว่า 44 ข้อ โรงเรียนทำได้มั้ย ผ่านมั้ยถึงสามารถเปิดให้นักเรียนไปโรงเรียนได้ ฉะนั้นให้มั่นใจว่ามาตรการตรงนี้เราได้ให้พื้นที่เป็นตัวประเมินและดูสถานการณ์ตรงนั้นในเบื้องต้น
สุดท้ายพอเปิดขึ้นมา มีกรณีเด็กติดโควิด 19 ขึ้นมา จะเข้าไปแก้ไขยังไง ?
ตรีนุช : ยอมรับค่ะว่าเราอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ สิ่งที่กระทรวงศึกษามาทำ คือภายใต้สถานการณ์ไม่ปกติที่เราเผชิญทั่วโลก เราจะสร้างสมดุลยังไง หนึ่งการเรียนการสอนต้องไม่ขาดช่วง กับโจทย์ที่เราต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กเป็นอันดับหนึ่ง ฉะนั้นเราไม่ได้คิดลอย ๆ ณ วันที่ 14 เรามอนิเตอร์ตลอด วันที่ 14 โรงเรียน 2 หมื่นโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ยินยอมที่จะเปิดเรียนจาก 3 หมื่นโรงเรียน ขณะนี้โรงเรียนที่เขาเปิดออนไซต์ เขาสามารถประเมินได้อีก 1.5 หมื่นโรงเรียน นี่เราพูดถึงภาพรวม แต่ในพื้นที่สีแดงเข้ม กรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี และอีกหลาย ๆ จังหวัด เราได้ให้มีการเรียนออนไลน์มาตลอดอยู่แล้ว กระทรวงมีการประชาสัมพันธ์ไปแล้วว่าการเรียนภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้ เราถึงต้องออกแบบการเรียนถึง 5 รูปแบบ
การเรียนตรงนี้เป็นทางเลือกให้บริบททางสังคมที่หลากหลายของประเทศไทยได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้มากที่สุด แต่ว่าอย่างที่เป็นห่วง มีเด็กติดโควิด 19 จากที่ พอมาโรงเรียนก็เริ่มติดกันแล้ว ตรงนี้เป็นมาตรการที่เราทำกันมาโดยตลอดคือปิดโรงเรียน จริง ๆ ศบค. แค่ปิดหนึ่งห้อง ห้องอื่นเรียนต่อได้ แต่ของเรามาตรการไปไกลกว่านั้นคือเมื่อเป็นคนหนึ่งเราปิดทั้งโรงเรียนก่อน ฉะนั้นของเราตอนแรกเปิด 2 หมื่น พอพื้นที่ไหนไม่ทันติด แค่ชุมชนติด เขาก็เริ่มปิดแล้ว
เราไม่ต้องเปิดก่อนไม่ดีกว่าเหรอ พอเปิดแล้วต้องมานั่งไล่แก้กันแบบนี้ ?
ตรีนุช : อย่างที่เรียนให้ทราบว่าเรามีมุมมองแบบไหน คือเราก็ต้องดูบางพื้นที่ เพราะอย่างที่พูดบางพื้นที่ในประเทศไทย ผู้ปกครองเองก็อยากให้ลูกได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา และเขายังเป็นพื้นที่สีเขียวอยู่ ผู้ปกครองเองต้องมองถึงความหลากหลายของสังคมเรา ความพร้อมของแต่ละครอบครัวเขาไม่เหมือนกัน บางครอบครัวเขามีเวลาอยู่ที่บ้าน อยู่กับลูก แต่บางครอบครัวเขาจำเป็นต้องดิ้นรนออกไปหางานทำยิ่งในสถานการณ์แบบนี้ เขาต้องไปทำงานด้วย ในพื้นที่ที่เขายังทำงานได้อยู่ ฉะนั้นเลยเป็นการยื้อกันอยู่แบบนี้ เราก็ต้องมีหลักยึดของเราอยู่อย่างนี้
เด็กนักเรียนบางที่อยู่ในบ้านเรียนออนไลน์ วิธีการเรียนการสอนเปลี่ยนไปหมดแล้ว แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือท่าเทอม ค่าใช้จ่าย เรื่องโรงเรียนรัฐหรือโรงเรียนเอกชน ภาครัฐไม่เรียกว่าค่าเทอม ?
ตรีนุช : ของรัฐบาลเรียนฟรี ก็จะมีค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ค่ะ ก็ไม่ได้เท่าเดิม หลาย ๆ ที่โดยเฉพาะภาครัฐ เรามีมาตรการทั้งภาครัฐและเอกชน ขอความร่วมมือค่าธรรมเนียมใด ๆ ก็ตามที่ไม่ได้เกิดกิจกรรมเกิดขึ้น ก็ต้องคืนให้ผู้ปกครอง เช่นช่วงติดโควิด 19 ว่ายน้ำไม่ได้ ค่าอาหารกลางวันต่าง ๆ ค่าแอร์ ต่าง ๆ เหล่านี้แต่ละโรงเรียนมีไม่เหมือนกัน ซึ่งค่าธรรมเนียมไม่ว่าจะเป็นค่าบำรุงห้องสมุดใด ๆ ก็ตาม ทัศนศึกษาซึ่งไม่ได้ไปแน่ ๆ กิจกรรมอะไรที่ไม่ได้เกิดขึ้น ที่เป็นกิจกรรมเสริม ก็ขอความร่วมมือให้คืนกับผู้ปกครอง
เอกชนล่ะ ?
ตรีนุช : เอกชนเราก็ขอความร่วมมือไป ภาคเอกชนเขามีค่าบำรุงการศึกษา และค่าธรรมเนียม ค่าบำรุงการศึกษา ต่อให้เป็นการเรียนออนไลน์หรือออนแอร์ก็ถือว่ายังมีการศึกษาอยู่ ถือว่าอยู่ในกรอบของการเรียนการศึกษา แต่ค่าธรรมเนียมที่เราไม่สามารถทำกิจกรรมได้ เราก็ขอความร่วมมือจากภาคเอกชน
กระทรวงศึกษา สามารถใช้คำว่าขอความร่วมมือได้เท่านั้น ไม่มีนโยบายในการสั่ง ?
ตรีนุช : เรียนตามตรงว่าเราขอความร่วมมือเป็นหลัก ในส่วนภาคเอกชน ถ้าสถานการณ์ปกติ เราถือว่าเขาได้จัดการศึกษาเพื่อเป็นทางเลือกให้ภาครัฐ เพราะสมัยก่อนต้องยอมรับว่าการที่ภาครัฐจะจัดการเรียนการสอนได้ในระดับหนึ่ง แต่เอกชนมีความสามารถในเรื่องต่าง ๆ ก็เป็นทางเลือกให้ผู้ปกครองอีกกลุ่มหนึ่งที่เขาเต็มใจที่จะส่งลูกไปทางนั้น
ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐไม่มีทางเลือกแบบนั้นให้กับทุกกลุ่ม ดังนั้นสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้ เราก็ขอความร่วมมือให้ทางโรงเรียนเอกชนลดค่าเทอมได้มั้ย ถ้าลดไม่ได้ตรึงได้มั้ย ตรึงไม่ได้หรือขอลดหน่อยต่าง ๆ นานาได้มั้ย หรืออย่างน้อยที่สุดในปีการศึกษาหน้าไม่เพิ่มได้มั้ย หรือตรึงได้มั้ย แต่ถ้าจะเพิ่มเด็กนักเรียนเก่าก็ต้องขอความร่วมมือให้เขาไม่อยู่ในค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เพราะถ้าเป็นภาคการศึกษาใหม่ กลุ่มใหม่ก็เป็นการตกลงกับผู้ปกครองและโรงเรียนเองร่วมกัน
ภาครัฐ จะทำเรื่องคืนให้ ?
ตรีนุช : ทำไปเป็นเดือนแล้วค่ะ ไม่ได้เพิ่งเริ่มทำ เราทำตั้งแต่ต้น ๆ เทอมด้วยซ้ำ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าการเรียนการสอนเปลี่ยนไป ค่าใช้จ่ายบางอย่างไม่ได้เกิดขึ้น อันนี้เป็นนโยบายตั้งแต่แรก แต่มีบางกลุ่มที่เดือดร้อนอยู่ ตรงนี้กระทรวงเองก็ยินดี เราไม่ได้ละเลย ขอความร่วมมือเป็นระยะ ๆ
ในฐานะเป็นตัวแทนของชาวบ้าน ไม่อย่างนั้นคนจะมองว่าเอ๊ะ เราจำเป็นต้องมีกระทรวงศึกษาธิการด้วยหรือ ในเมื่อแล้วยังต้องมีเข้ามายุกยิก ๆ แล้วทำอะไรไม่ได้ ?
ตรีนุช : ไม่อยากให้มองสถานการณ์วันนี้แล้วตัดสินว่าอะไร เพราะทุกอย่างมีที่มาอยู่เหมือนกัน จริง ๆ แล้วนั่นคือเหตุผลว่าทำไมต้องดูสองทาง ดิฉันเข้าใจว่าในสถานการณ์แบบนี้ผู้ปกครองก็ได้รับความลำบากอย่างยิ่ง ก่อนหน้าเราจะมีวันนี้ ภาคเอกชนถือว่าเป็นการให้บริการทางเลือกให้กับสังคมให้กับประเทศ เอกชนเป็นทางเลือกให้ผู้ปกครองที่สามารถจ่ายค่าเทอมต่าง ๆ ให้คุ้มค่ากับสิ่งต่าง ที่เหมาะสมกับเขา ตอนนี้เรามองว่าเอกชนซัปพอร์ตภาครัฐเรื่องการเรียนการศึกษา วันนี้กระทรวงก็หนักแน่นมาก ถึงเราไม่มีกฎหมายโดยตรงในการออกคำสั่งเช่นนั้น แต่เรามีการประสานงานกับโรงเรียนเอกชนอยู่ตลอด และพยายามกำกับดูแล เอาเป็นว่าถ้ามีอะไรที่ผู้ปกครองมองว่าไม่เป็นธรรมก็สามารถแจ้งไปที่กระทรวงศึกษาธิการได้
อยู่ในสายกับ ผศ. ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการ รมว.และโฆษกกระทรวงการอุดมศึกษาฯ คุยในมุมมหาวิทยาลัย เรื่องโควิด 19 ทำให้ภาครัฐประกาศปิดหลาย ๆ พื้นที่ เรื่องค่าใช้จ่าย ค่าเทอมต่าง ๆ นานา ฝั่งมหาวิทยาลัย ตอนนี้ยังไง ?
ดร.ดวงฤทธิ์ : ตั้งแต่ก่อนเปิดเทอม ท่านรัฐมนตรีได้มีนโยบายขอความร่วมมือมหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชนไม่ว่าจะเป็นการลดค่าเทอม ค่าหอพัก ค่าตำราเรียน หาทุนช่วยนักศึกษา แล้วก็รวมไปถึงเงินกู้ กยศ. ด้วย
ทำไมต้องใช้คำว่าขอความร่วมมือทุกกระทรวง เรามีคำสั่งไม่ได้เหรอ ?
ดร.ดวงฤทธิ์ : ส่วนตัวคิดว่าในสถานการณ์แบบนี้เราต้องช่วยกัน โดยปัจจุบันที่เกิดขึ้น ถึงรัฐมนตรีขอความร่วมมือแต่ภาครัฐและเอกชนเขามีการให้ความร่วมมือลดค่าเทอม บางที่หอพักฟรีไปเลย ทั้งมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนเอง
ขอความร่วมมือแล้วเขาช่วยจริง ๆ หรือลดนิดหน่อย ?
ดร.ดวงฤทธิ์ : เขาช่วยจริง ๆ ไม่ได้ช่วยทิพย์ ตอนนี้หลายมหาวิทยาลัย จะลดค่าเทอมประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ หลัก ๆ คือฟรีหอพัก เป็นทุนการศึกษาค่อนข้างเยอะ อย่างถ้าภาครัฐก็จุฬาฯ ม.เกษตร มศว. มหิดล ภาคเอกชนก็ ม.กรุงเทพธนบุรี ม.ศรีปทุม
กี่เปอร์เซ็นต์ที่ลด ?
ดร.ดวงฤทธิ์ : แต่ละที่ไม่เท่ากัน ส่วนใหญ่ภาพรวม 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่ฟรีเรื่องค่าหอพัก และส่วนใหญ่จะหนักไปทางทุนการศึกษา
ม.เชียงใหม่ เห็นว่าลด10 เปอร์เซ็นต์ ?
ดร.ดวงฤทธิ์ : ผมเห็นว่าลดภาคฤดูร้อนไปคนละ 2,500 บาท ตามข้อมูลที่ส่งมาให้ผมดู แล้วในส่วนกระทรวงเองเรามีโครงการช่วยเหลืออีก เป็นโครงการจ้างงานนศ. และบัณฑิตที่จบใหม่ เพราะเป็นปัญหาเหมือนกัน เพราะนักศึกษาจบไปแล้ว แต่ไม่มีงานทำ เราก็จ้างเขาไปทำงาน สำหรับนักศึกษาจบแล้วเรามีเงินเดือนให้ 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน นักศึกษาที่เรียนอยู่อยากแบ่งเบาภาระพ่อแม่ก็ 5 พันบาทต่อเดือน
เท่าที่ทราบมาลด 10 เปอร์เซ็นต์ ประมาณนั้น มีคนร้องเรื่องมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งอยู่ที่ศรีราชา มีครูผู้หญิงท่านนึงใช้คำพูดจาไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เช่นคำว่า พ่องมึงเหรอ หรือเงินหมื่นกว่าบาทไม่มีปัญญาหาคอมพ์มาใช้เหรอ ครูแบบนี้เอาไว้ได้มั้ย ?
ดร.ดวงฤทธิ์ : เรื่องนี้ได้รายงานท่านรัฐมนตรีอย่างเร่งด่วน ท่านรัฐมนตรีมอบหมายให้อธิการมหาวิทยาลัยนั้นไปตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ท่านเน้นย้ำให้ตรวจสอบเรื่องจรรยาบรรณของอาจารย์
เกษตรศรีราชา พูดว่าคนไม่มีคอมพ์เรียนคือปัญญาอ่อน ?
ดร.ดวงฤทธิ์ : ผมว่าคนเรามีโอกาสทำผิดพลาดได้ ถ้าผิดแล้วผมคิดว่าสำคัญต้องแก้ไข ถ้าไม่แก้ไขคิดว่าใช้ไม่ได้ ส่วนตัวนะ
ฝั่งโรงเรียนมัธยม หรือโรงเรียนภาครัฐก็มีร้องมาเหมือนกัน เรื่องครูที่ไปล่วงละเมิดแต่ได้กลับมาสอน เรื่องนี้ทำยังไง ?
ตรีนุช : เรื่องความปลอดภัย ถือว่าเป็นนโยบายแรกของกระทรวงในการขับเคลื่อน เรามีการตั้งศูนย์ขึ้นมาให้ร้องเรียน ตอนนี้มีแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ร้องเรียนรายงานตรงได้เร่งด่วนมากขึ้น มาตรการแรกที่ทำ ถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้น ต้องย้ายครูออกจากพื้นที่ก่อนเพื่อมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ และกระบวนการตรงนี้ต้องเร่งด่วนและเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย เมื่อมีการตรวจสอบ ถ้ามีการผิดจริง ก็มีไปถึงขั้นไล่ออก ยึดใบอนุญาตการเป็นครูได้ด้วย
ค่าเทอมจะช่วยยังไงได้บ้าง ?
ตรีนุช : หลาย ๆ โรงเรียนลดค่าเทอมไปบางส่วนแล้ว ลดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ หลายโรงเรียนได้ทำแล้ว แต่บางโรงเรียนที่ยังมีประเด็น รบกวนให้แจ้งมา เราจะได้ดูความเหมาะสม และให้เข้ามาคุยชี้แจงกัน ว่ามันคืออะไร เพื่อให้ความเป็นธรรมด้วยค่ะ
ข่าวจาก : kapook
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ