3 หมอชื่อดัง เห็นตรงกัน ไม่จำเป็นต้องวัดความดันก่อนฉีดวัคซีน





3 หมอชื่อดัง เห็นตรงกัน ควรเลิกวัดความดันก่อนฉีดวัคซีนได้แล้ว

เมื่อวันที่ 9 ก.ค. พล.อ.ท.นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ โพสต์ข้อความแสดงความเห็น ยืนยัน คำแนะนำล่าสุด ไม่มีระดับความดันโลหิตที่ห้ามฉีดวัคซีนโควิด

“ปัญหาที่หลายคนมาฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วไม่ได้ฉีด คือวัดความดันโลหิตแล้วสูง หลายคนตื่นเต้น กลัวการฉีดวัคซีน บางคนที่มีความดันโลหิตสูงก็ไม่ได้ทานยาตามปกติ ความดันโลหิตก็เลยขึ้น คำแนะนำล่าสุด ไม่มีระดับความดันโลหิตที่ห้ามฉีดวัคซีนโควิด ยกเว้นกำลังอยู่ในภาวะความดันโลหิตสูงฉุกเฉินวิกฤตที่มีอาการอื่นแสดงร่วมด้วยนะครับ และผู้มีความดันโลหิตสูง ไม่ต้องงดยาลดความดันโลหิตก่อนฉีดวัคซีน” พล.อ.ท.นพ.อนุตตรระบุ

เช่นเดียวกับ ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะ​แพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แชร์ข้อความของ พล.อ.ท.นพ.อนุตตร พร้อมข้อความเห็นด้วย ระบุว่า

“ควรเลิกวัดความดันก่อนฉีดวัคซีนได้แล้วครับ หลายประเทศยกเลิกการวัด vital signs ก่อนฉีดวัคซีนไปแล้วด้วยซ้ำ”

เช่นเดียวกับ อ.นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือหมอหม่อง อาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขียนข้อความทางเฟซบุ๊ก ระบุว่า

มีหลายคนถามความเห็นหมอหัวใจว่า เราควรเลิกการวัดความดันโลหิต ก่อน-หลัง การฉีดวัคซีน เป็น routine ได้ไหม เห็นในหลายประเทศเขาไม่วัดกัน ความเห็นผมดังนี้ครับ

ไม่มีเหตุผลทางชีววิทยาใดๆ ที่จะชวนให้กังวลว่า ฉีดวัคซีนโควิดแล้ว ความดันโลหิตจะขึ้น จนเป็นอันตราย ความดันที่ขึ้นจากการฉีดส่วนใหญ่เป็นจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะความเครียด ความกลัว ซึ่งก็เจอกับกรณีทุกวัคซีน และหัตถการการรักษาอื่นๆ ก่อนฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ก็ไม่มีความจำเป็นในการตรวจความดันก่อนและหลัง ส่วนใหญ่เขาก็ไม่วัดกัน ในช่วงแรกๆ ผมคิดว่าเพราะ วัคซีนตัวนี้เป็นของใหม่ เรายังไม่ค่อยมีประสบการณ์ ผู้วางระบบก็กลัว กันไว้ก่อนเป็นธรรมดา แต่ตอนนี้ เราฉีดกันไปแล้วกว่า 10 ล้านคนแล้ว คุ้นเคยกันพอแล้ว น่าจะเลิกได้แล้วครับ

ในขณะที่เราต้องเร่งฉีดวัคซีนให้คนจำนวนมากในเวลาที่สั้นที่สุด เราจะเห็นว่าในหลายประเทศ การจัดการฉีดวัคซีนเขาไม่ได้ยุ่งยากวุ่นวาย ใช้ทรัพยากรมากมายหลายขั้นตอนแบบเรา เขาทำให้สะดวกและ lean ที่สุด

กลับมามองบ้านเรา ผมเห็นมีกระบวนการต่างๆ ที่เราสามารถ lean ลงอีกมาก เช่น การวัด นน. ส่วนสูง

การแต่งชุดเต็มยศฉีด การใช้บุคลากรทางการแพทย์มาดูแลกระบวนการ non medical เช่น การลงทะเบียน ฯลฯ (ในหลายประเทศ คนฉีดไม่ใช่หมอ ไม่ใช่พยาบาลด้วยซ้ำ) บุคลากรทางการแพทย์ยิ่งขาดแคลนอยู่ น่าเอาไปทำหน้าที่ดูแลคนไข้ดีกว่า คนตกงานเยอะแยะ รัฐจ้างมาทำหน้าที่เหล่านี้ก็น่าจะดีครับ และหากมองภาพใหญ่ เราจะเห็นว่า ระบบไทยๆ เรามักเทอะทะ เรามีปัญหา แยกแยะ แก่นสาระ กับ กระพี้ เราชอบเน้น รายละเอียดขั้นตอนที่ไม่สำคัญมากมาย โดยเฉพาะภาพลักษณ์ แต่ส่วนที่สำคัญ กลับไม่เน้น ไม่ใส่ใจ เลยใช้แรง ใช้ทรัพยากร เยอะ กว่าจะขับเคลื่อนอะไรไปได้ทีละน้อย แต่เอาเข้าจริงๆ

กรณี mass vaccination ของเราทุกวันนี้ ศูนย์ฉีดวัคซีนต่างๆ ของเรา ก็มีศักยภาพที่จะฉีดได้มากและเร็วอยู่แล้ว เพียงแต่ คอขวดอยู่ที่ supply วัคซีนเข้ามาไม่เพียงพอ และไม่ต่อเนื่องแน่นอนนั่นเอง

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: