“วิชาชีพพยาบาล” ถือเป็นกำลังคนในระบบสุขภาพที่มีบทบาทสำคัญต่อการให้บริการประชาชน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในภาวะขาดแคลน โดยข้อมูลจากสภาการพยาบาล ระบุว่า มีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเพียง 180,000 คน แต่ทำงานในระบบจริง ๆ อาจไม่ถึงจำนวนนี้
ยิ่งไปกว่านั้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผู้ติดเชื้อหลายพันคนต่อวัน พยาบาลต้องทำหน้าที่เป็นด่านหน้าดูแลผู้ป่วยทำให้ไม่เพียงพอต่อการรับมือ ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าความต้องการจะเพิ่มขึ้นไปอีก
“รศ.ดร.อรพรรณ โตสิงห์” รองคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า พยาบาลเป็นอาชีพที่ขาดแคลนบุคลากรมานานแล้ว ยิ่งวิกฤตปีนี้เห็นชัดว่าแพทย์ พยาบาลทำงานหนักจนแทบรับมือไม่ไหว จึงทำให้เราต้องการบุคลากรเพิ่มจำนวนมาก
“ย้อนกลับไปปี 2535 คณะรัฐมนตรีมีมติให้อาชีพพยาบาลเป็นสาขาที่ขาดแคลน โดยให้เร่งรัดผลิตให้ทันความต้องการของประเทศ ทำให้สถาบันการศึกษาทุกแห่งพยายามดำเนินการผลิตคนให้เป็นไปตามมาตรฐาน และทางสภาการพยาบาลได้มีการคิดหาวิธีเพิ่มบุคลากรมาตลอด ทุกปีจะมีการคำนวณกำลังคนในสาขา โดยเปรียบเทียบกับเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดไว้โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งเกณฑ์ขั้นต่ำของ WHO คือ พยาบาล 1 คนต่อจำนวนประชากร 500 คน สำหรับประเทศกำลังพัฒนา”
“ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาจะมีจำนวนพยาบาลที่ดูแลต่อประชากรจำนวนน้อยเพื่อที่จะได้ดูแลอย่างทั่วถึง รวมทั้งดูเกณฑ์มาตรฐานของประเทศอื่น ๆ ร่วมด้วย ส่วนที่เราใช้จะเป็นเกณฑ์กลาง ๆ คือ ตั้งเอาไว้ว่าพยาบาล 1 คนต่อจำนวนประชากร 250 คน ถ้าคำนวณดูจากตัวเลขนี้แล้วกับจำนวนประชากรคร่าว ๆ เราต้องการพยาบาลในระบบสุขภาพจริง ๆ ถึง 230,000 คน แต่ปัจจุบันเรามีพยาบาลที่ปฏิบัติงานอยู่ในระบบแค่ 180,000 คน”
“ในภาพรวมเราต้องการพยาบาลเพิ่มอีกมากกว่า 50,000 คน และปีต่อไปตัวเลขจะไม่ได้หยุดแค่นี้ จะเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเพราะคนอายุยืนขึ้น ที่สำคัญ อาจมีคนป่วยเป็นโรคเรื้อรังรักษาไม่หายมากขึ้น ซึ่งคนเหล่านี้ก็ต้องการคนดูแลอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกัน จะมีพยาบาลเกษียณอายุทุกปี ประกอบกับรัฐบาลมียุทธศาสตร์ที่จะทำศูนย์การดูแลสุขภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วย คาดการณ์ว่าในอีก 5-10 ปี ตัวเลขความต้องการจะพุ่งสูงขึ้นไปอีก”
“รศ.ดร.อรพรรณ” กล่าวต่อว่า ปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นเป็นที่มาที่สภาการพยาบาล มีนโยบายให้มหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ รับผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทุกสาขาเข้ามาเรียนได้ในระยะเวลา 2 ปี 6 เดือน ซึ่งเป็นนโยบายที่เกิดขึ้นก่อนจะมีสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้น หากมหาวิทยาลัยใดพร้อม ทั้งอาจารย์ผู้สอน ห้องปฏิบัติการ หลักสูตรที่เป็นมาตรฐาน ก็สามารถเปิดได้เลย
“เท่าที่ทราบตอนนี้มหาวิทยาลัยเอกชนที่นำร่องไปก่อนแล้ว คือ ม.รัตนบัณฑิตเปิดเมื่อปี 2563 และปีนี้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ก็เพิ่งเปิดเป็นปีแรก ชื่อหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต รับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทุกสาขาจำนวน 100 คน ตอนนี้มีผู้สมัครเข้ามามากกว่า 322 คนแล้ว ถือว่ามีคนให้ความสนใจอยากเป็นพยาบาลจำนวนมาก โดยขั้นตอนต่อไปจะเป็นการสอบสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกเข้าศึกษาในเดือนสิงหาคมนี้ตามเป้าหมายที่เราตั้งใจไว้”
“เหตุผลที่เปิดแน่นอนว่าต้องการผลิตคน อีกทั้งตอนนี้นักศึกษาหรือบัณฑิตที่จบสาขาปริญญาตรีมีอยู่จำนวนมาก ที่เรียนจบแล้วยังไม่มีงานทำ”
จากข้อมูลการสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า บัณฑิตจบใหม่ไม่สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานถึง 5.2 แสนคน เป็นจำนวนที่น่าตกใจยังไม่รวมกับคนวัยทำงานที่อยู่ในสถานการณ์อาชีพไม่มั่นคงจากผลกระทบโควิด ดังนั้น วิชาชีพที่ไม่ตกงานแน่นอน คือ พยาบาลเป็นอาชีพที่ต้องการของสังคมด้วย ช่วยชาติด้วย ช่วยตัวเองด้วย”
สำหรับรูปแบบการเรียน “รศ.ดร.อรพรรณ” บอกว่า โดยทั่วไปการเรียนในระดับปริญญาตรีทุกแห่งจะเรียนทั้งหมด 122 หน่วยกิตเป็นอย่างน้อย ในจำนวนนี้มีหมวดวิชาศึกษาทั่วไปแล้ว 30 หน่วยกิต แบ่งเป็นกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ที่ทำให้เราเป็นคนมีเหตุมีผล แล้วก็กลุ่มวิชามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ที่ทำให้เรามีความเป็นมนุษย์ และกลุ่มวิชาภาษาและการสื่อสาร ซึ่งเทียบโอนได้ ฉะนั้น ก็จะเหลืออีก 80 หน่วยกิต โดยใช้เวลา 2 ปีครึ่งในการเรียนหลักสูตรพยาบาล
สำหรับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะแบ่งออกเป็น 2 หมวดใหญ่ ๆ คือ
หนึ่ง หมวดวิชาเฉพาะสำหรับพยาบาลศาสตรบัณฑิต เพื่อปูพื้นฐานวิชาชีพเกี่ยวกับศาสตร์ทางสุขภาพ เช่น กายวิภาคศาสตร์ พยาธิวิทยา คือ เรียนเรื่องโรค และความเจ็บป่วย รวมถึงเรียนเภสัชกรรม ด้านการให้ยา
สอง กลุ่มวิชาชีพเฉพาะ เจาะลึกลงในวิชาชีพของการพยาบาลทุก ๆ วัย คือ ตั้งแต่เรื่องของการพยาบาลเด็ก การพยาบาลผู้ใหญ่ การพยาบาลผู้สูงอายุ การพยาบาลจิตเวช การพยาบาลชุมชน การรักษาโรคเบื้องต้น จริยธรรมพยาบาล รวมถึงกฎหมายเรื่องพยาบาลต่าง ๆ
นอกจากนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะเน้นสร้างบัณฑิต 3 ทางเลือกในปีสุดท้าย โดยจะให้นิสิตเลือกว่าเรียนจบไปอยากเป็นผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจด้านการพยาบาลหรือสุขภาพหรือไม่ เช่น เปิดสถานพยาบาล สถานดูแลผู้สูงอายุ ก็จะมีอาจารย์สอนเรื่องการคำนวณต้นทุน ดูว่าการทำธุรกิจ การจดทะเบียนทำอย่างไรให้ถูกต้อง หรือทางเลือกที่สอง
ถ้าหากต้องการเป็นนักเทคโนโลยีสารสนเทศทางการพยาบาล ก็จะเป็นผู้ออกแบบแพลตฟอร์มเกี่ยวกับสุขภาพหรือจัดทำคลังข้อมูลขนาดใหญ่ บริหารจัดการบิ๊กดาต้าทั้งหลาย และทางเลือกสุดท้าย หากต้องการทำงานในโรงพยาบาลจะทำการสอนเพื่อให้เป็นคนบริหารจัดการในโรงพยาบาลตามกลุ่มงาน เช่น กลุ่มงานดูแลผู้ป่วยเฉพาะโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็งเรื้อรัง ความดันโลหิตสูง ฯลฯ
ข่าวจาก : ประชาชาติธุรกิจ
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ