ผู้ประกอบการรถโดยสารโคราชโอด พิษโควิดรอบ 4 สาหัส จอดรถทิ้ง ในอู่ 90%





ผู้ประกอบการรถโดยสารโคราชโอด เจอพิษโควิดรอบ 4 สาหัส หยุดรถจอดรถทิ้งไว้ในอู่ 90% ดีกว่าวิ่งแล้วขาดทุนยับ ลูกน้องตกงานเพียบ วอนรัฐช่วยเหลือเท่าเทียมธุรกิจอื่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 4 ขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต่างๆ ทั่วประเทศ ได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการคุมเข้มการเดินทางข้ามจังหวัดพื้นที่สีแดง และสีส้ม รวมทั้งประชาชนส่วนใหญ่ตื่นกลัวกับการติดเชื้อ จึงไม่กล้าที่จะมาใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ทำให้ขณะนี้ผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ ต้องจอดรถทิ้งไว้ในอู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากไม่มีผู้โดยสารใช้บริการนั้น

ล่าสุด วันที่ 17 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปที่อู่ของบริษัทนครชัยทัวร์ จำกัด ริมถนนมิตรภาพ อ.เมือง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะรายใหญ่ของ จ.นครราชสีมา มีบริษัทในเครือ 2 บริษัท ได้แก่

บริษัทนครชัยขนส่ง จำกัด และบริษัทนครชัย 21 จำกัด มีรถโดยสารปรับอากาศอยู่จำนวน 130 คัน วิ่งอยู่ 6 เส้นทาง ประกอบด้วย นครราชสีมา-แม่สาย, นครราชสีมา-เชียงใหม่, นครราชสีมา-เชียงราย, นครราชสีมา-นครสวรรค์, นครราชสีมา-มุกดาหาร และนครราชสีมา-กรุงเทพมหานคร ซึ่งพบว่าขณะนี้ ทางบริษัทได้จอดรถโดยสารปรับอากาศทิ้งไว้ในอู่เป็นจำนวนมาก

โดยนายชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัทนครชัยทัวร์ จำกัด เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่รัฐบาลออกมาตรการคุมเข้มการเดินทางข้ามจังหวัด โดยเฉพาะจากจังหวัดพื้นที่เสี่ยงสีแดง รถโดยสารทั้งที่เป็นรถประจำทาง และรถไม่ประจำทาง ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก อย่างเช่นบริษัทนครชัยทัวร์ จำกัด ซึ่งมีบริษัทในเครือทั้ง 2 บริษัท เดิมมีพนักงานอยู่ประมาณ 600 คน มีรถอยู่ประมาณ 130 คัน

ปัจจุบันมีพนักงานอยู่ประมาณ 300 คน ส่วนหนึ่งเลิกจ้างชดเชยตามกฎหมายไป ส่วนที่เหลือยังคงประคับประคอง เผื่อจะมีบางช่วงจังหวะที่จะมีการเดินทางกลับมาบ้าง จึงต้องมีพนักงานสแตนบายไว้ให้เพียงพอ

“แต่ล่าสุดเราใช้รถวิ่งไม่ถึง 10% พนักงานใช้ไม่ถึง 50 คนต่อวัน ที่เหลือจอดรถทิ้งไว้ในอู่ ทำให้เป็นภาระหนักของบริษัทอย่างมาก เพราะรายได้หลักเกิดจากการวิ่งรถ ในเมื่อรถส่วนใหญ่ 90% จอดทิ้งไว้ก็ไม่เกิดรายได้อะไร แต่รายจ่ายยังคงมีต่อเนื่อง ตอนนี้ทำได้อย่างเดียวคือรอให้วิกฤตโควิด-19 ผ่านไปโดยเร็ว เพื่อให้สามารถวิ่งรถได้ตามปกติ

แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นวี่แววว่าวิกฤติจะผ่านไปได้เลย มีแต่จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหากรัฐบาลจะช่วยแบ่งเบาภาระเบื้องต้นก็สามารถทำได้ เช่น ชะลอการต่อภาษีรถโดยสาร, ช่วยเหลือค่าจ้างพนักงาน เพื่อลดต้นทุนผู้ประกอบการ, ค่าผ่อนรถ กรณีบางบริษัทที่ต้นทุนน้อย เป็นต้น รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยลดต้นทุนสถานประกอบการรถโดยสารสาธารณะด้วย ก็จะเป็นการต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการเหล่านี้สามารถประคับประคองอยู่จนพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้”นายชัยวัฒน์ กล่าว

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อ แต่เมื่อรัฐบาลกำหนดไม่ให้คนเดินทาง ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้ผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ถึงขั้นวิ่งรถไม่ได้เลย เพราะถึงแม้จะฝืนใจวิ่งรถก็ขาดทุนอยู่ดี เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารไม่เพียงพอต่อต้นทุนในการวิ่ง ผู้ประกอบการถูกกำหนดให้วิ่ง ก็ต้องวิ่งรถตามใบอนุญาต แม้จะถูกปรับลดทอนผู้โดยสาร แต่ในทุกเที่ยวที่วิ่งเปรียบเสมือนเลือดไหลออกจากร่างกายต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันรถนำเที่ยว เมื่อปิดสถานที่ท่องเที่ยว ห้ามไม่ให้มีการจัดสัมมนาต่างๆ ก็ไม่มีลูกค้า ส่วนที่สองแม้จะลดเที่ยววิ่ง แต่ก็ยังคงมีฟิกคอสคือค่าจ้างแรงงานอยู่ รวมถึงการเสียภาษี ค่าธรรมเนียม กระบวนการทางกฎหมายต่างๆ เช่น ค่าต่อภาษี, ค่าทำ พ.ร.บ.ประกันภัย, ค่าเชื่อมสัญญาณ GPS และค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่ครบ ภาระค่าใช้จ่ายเหล่านี้ยังคงมีต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลาการระบาดทั้ง 3 ระลอกที่ผ่านมา ซึ่งหลายบริษัทที่ไม่มีเงินทุนมากพอก็ต้องปิดกิจการไป ทำให้แรงงานก็ถูกเลิกจ้างไปด้วย ซึ่งแรงงานเหล่านี้เป็นกลุ่มเฉพาะที่ไม่สามารถไปทำอาชีพอื่นได้ แต่ถ้าถูกบังคับให้ต้องรักษาบุคลากรไว้ ผู้ประกอบการก็แบกรับภาระไม่ไหว

“ทางสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะจังหวัดนครราชสีมา ก็ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลไปนานแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง ทั้งที่ผลกระทบเหล่านี้เกิดจากมาตรการของรัฐบาลโดยตรง ซึ่งผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะก็ไม่ได้ต่อต้านหรือคัดค้าน แต่เมื่อเขาเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวก็ควรได้รับการช่วยเหลือเยียวยาเท่าเทียมกันกับธุรกิจอื่นๆ ด้วย”นายชัยวัฒน์ กล่าว

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: