อธิบดีกรมวิทย์ ตัดพ้อจัดหาวัคซีนไม่ตรงใจ ถูกโยนข้อหาทุจริต เงินทอน





อธิบดีกรมวิทย์ฯ พ้อจัดหาวัคซีนโควิดไม่ตรงความคาดหมาย ถูกโยนข้อหาทุจริต มีเงินทอน ชี้ไม่เป็นธรรม ร่ายยาวกลไกวิธีจัดหาวัคซีน ผ่านคณะกรรมการเห็นชอบร่วมกัน พร้อมระบุเหตุผลทำไมเปิดเผยข้อมูลเจรจากับผู้ผลิตไม่ได้ ย้ำพร้อมรับฟังข้อแนะนำ แต่อย่าวิจารณ์แบบเปิดถ้วยแทง ข้อมูลไม่ครบ สร้างความเข้าใจผิด

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวกรณีการจัดหาวัคซีนโควิด 19 ว่า ช่วงที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการจัดหาวัคซีนโควิด 19 ซึ่งเราเข้าใจอารมณ์ประชาชนที่รอคอยวัคซีน แต่ข้อมูลบางอย่างที่พูดกันอาจทำให้เข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อน เช่น ไม่มีระบบกลไกที่ดีในการจัดหาวัคซีน ทำงานไม่มีหลักการไม่มีระบบ อยากเอาวัคซีนอะไรก็เอามา ทั้งมีคุณภาพไม่มีคุณภาพ สารพัดที่จะพูด จึงอยากอธิบายชี้แจงว่า กลไกการทำงานเพื่อให้เข้าใจตรงกัน เพราะคนที่วิจารณ์โดยมีข้อมูลน้อย ไม่ครบถ้วน

บางคนเป็นอินฟลูเอนเซอร์หรือในโซเชียลก็ยิ่งทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนไปใหญ่ และไม่เป็นธรรมกับคนทำงาน โดยเฉพาะเมื่อสิ่งที่เราดำเนินการไม่เป็นไปตามความคาดหมายหรือประสงค์ให้เป็น ก็จะโยนข้อหาเรื่องการทุจริต การมีเงินทอน ซึ่งไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง ขอยืนยันว่าภายใต้การกำกับดูแลของ รมว.สธ. การทำงานของ สธ.ตรวจสอบได้ ไม่มีเรื่องทุจริตโดยเด็ดขาด

“หลายฝ่ายบอกว่าเมื่อเจรจาจัดหาวัคซีน ทำไมไม่เปิดเผยผลการเจรจาทุกนัดให้ประชาชนทราบ จะได้โปร่งใส ขอเรียนว่า หลักการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนรายใดก็ตาม จะมีสิ่งที่ตกลงกันก่อนคือ สัญญาที่ไม่เอาข้อความที่เจรจากันไปเปิดเผย เพราะมีการหารือทั้งเรื่องราคา คุณสมบัติวัคซีน ที่ต้องมีการถามกัน

ถ้าเอาข้อมูลเจรจาไปเปิดเผยจะเกิดผลเสีย เขาอาจเลิกเจรจา หรือบางกรณีเกิดผลร้าย เช่น ตอนเรามีการระบาดและขอให้แอสตร้าเซนเนก้าจัดหาวัคซีนจากแหล่งผลิตอื่นให้เราก่อน เพราะสัญญาส่งมอบคือเริ่ม มิ.ย.64 แต่เรารอไม่ได้ เขาก็พยายามไปตัดล็อตวัคซีนมาจากยุโรป แต่พอข่าวออกไป ทางยุโรปก็สั่งห้ามโรงงานอิตาลีไม่ให้ส่งให้เรา นี่คือตัวอย่างว่า สิ่งเหล่านี้เราต้องรักษาประโยชน์ประเทศชาติสูงสุด” นพ.ศุภกิจกล่าว

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า กลไกที่ สธ.ใช้ดำเนินการจัดหาวัคซีนมี 2 ส่วน คือ 1.กลไกตามกฎหมาย คือ คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ คณะกรรมการบริหารสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.ดรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดหาวัคซีนทั้งทางตรงทางอ้อม ดำเนินการพิจารณาผ่านรูปแบบคณะกรรมการ และ

2.กลไกทางการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและร รมว.สธ. แต่งตั้งคณะกรรมการจัดหาวัคซีน ซึ่งมีปลัด สธ.เป็นประธาน กรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งเลขาธิการ อย. อธิบดีกรมควบคุมโรค ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เลขาธิการ สปสช. ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เป็นต้น

และมีการตั้งคณะทำงานภายใต้คณะกรรมการนี้ 2 ชุด โดยคณะหนึ่งเจรจาแอสตร้าฯ อีกคณะเจรจาโคแวกซ์ ซึ่งในส่วนของโคแวกซ์ยังไม่ทิ้ง มีการเจรจา นอกจากนี้ นายกฯ ยังมีการตั้งคณะกรรมการจัดหาวัคซีนทางเลือกที่มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน

ทั้งนี้ วัคซีนไม่ใช่สินค้าทั่วไปที่จัดหาโดยง่าย ตลาดยังเป็นของผู้ขายมีสิทธิกำหนดต่างๆ การผลิตไม่เพียงพอ แม้กระทั่งโคแวกซ์ที่คนถามว่าทไมเราไม่เข้า วันนี้ก็ยังซัพพลายวัคซีนไม่มากเท่าที่วางแผน พลาดเป้าไปค่อนข้างเยอะ เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว มีการกลายพันธุ์ต่างๆ สิ่งที่วางแผนจึงต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง และเจรจากับหลายๆ ฝ่ายตลอดเวลา ดังนั้น กลไกที่มีความเข้มแข็งมากพอจะดำเนินการให้ได้วัคซีนมาถึงคนไทยมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ การฉีดวัคซีนในประเทศไทยก็ไม่น้อยหน้าในหลายประเทศ

“เราทำงานบนข้อมูลวิชาการ ข้อแนะนำใดๆ ก็ตามที่ให้ในทางที่เป็นประโยชน์เราน้อมรับปรับปรุง แต่ข้อแนะนำบางอย่างที่เป็นแบบเปิดถ้วยแทง คือ เห็นแล้วว่าเกิดอะไรแล้วมาวิจารณ์อาจไม่เป็นธรรม ต้องนึกถึงสถานการณ์วันที่เราตัดสินใจล่วงหน้า หลายเรื่องเราไม่อาจคาดการณ์ได้ เช่น การโจมตีวัคซีนซิโนแวค ถ้าเดือน ก.พ. และ มี.ค. เราไม่มีฉีดจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งวันนี้พิสูจน์แล้วว่า ซิโนแวค 2 เข็ม ลดป่วยหนัก ไม่เสียชีวิต ขอให้ทุกคนพิจารณาอย่างถ้วนถี่ เราพร้อมทำงานหนักให้ได้วัคซีนตามที่ควรจะเป็นมากสุดเท่าที่เป็นได้ บนข้อจำกัดและปัญหาอุปสรรคต่างๆ นานา” นพ.ศุภกิจกล่าว

ข่าวจาก ข่าวสดออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: