สปสช.ผนึก สธ.-สพฉ. วางระบบส่งต่อผู้ป่วยโควิด-19 สีเขียวในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล เดินทางกลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนาได้ เปิดลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ https://crmdci.nhso.go.th/ ลดการรอคอยสายเป็นเวลานาน
วันนี้ (22 ก.ค.64) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ขณะนี้ที่มีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำให้ศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยนั้นมีความแออัด ขณะเดียวกัน ได้มีหลายจังหวัดทั้งโรงพยาบาลและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ประกาศรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการรักษาให้กลับมารักษาตามภูมิลำเนาของตนหรือต่างพื้นที่ได้
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงได้มอบให้ สธ. สปสช. และ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) วางระบบการนำส่งผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลับไปรักษาที่ภูมิลำเนา เพื่อให้การขนส่งผู้ป่วยเป็นไปตามมาตรฐานการป้องกันและควบคุมโรค ลดการแพร่กระจายเชื้อระหว่างทาง โดยยังได้ประสานกับกระทรวงกลาโหม กรมการขนส่งทหารบก กระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อร่วมวางแผนการเดินทางและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
“สำหรับเงื่อนไขของผู้ป่วยที่จะเดินทางกลับไปรักษาตามภูมิลำเนาได้ จะต้องผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย (สีเขียว) โดยผู้ป่วยจะต้องมีอาการคงที่ สามารถเดินทางได้ และจังหวัดปลายทางยินยอมรับกลับ ตามมติของคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัด โดยในส่วนของ สปสช.จะรับผิดชอบประสานงานกับ สธ. สพฉ. กองทัพบ กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแผนส่งกลับที่มีความปลอดภัยแก่ผู้ป่วย พร้อมมีเจ้าหน้าที่วิดิโอคอบให้คำปรึกษาระหว่างการเดินทางด้วย” เลขาธิการ สปสช.กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ที่มีความประสงค์ต้องการเดินทางกลับไปรักษาตามภูมิลำเนา สามารถแจ้งความจำนงโดยลงทะเบียนได้ทางเว็บไซต์ https://crmdci.nhso.go.th/ เพื่อแก้ปัญหาปริมาณสายด่วน 1330 มีการใช้งานจำนวนมาก ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ต้องรอนาน จึงได้เปิดช่องทางลงทะเบียนทางเว็บไซต์เพื่อให้แจ้งความจำนงแทน ที่ผ่านมา สปสช.ได้ส่งผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลับไปรักษาที่ภูมิลำเนาแล้วประมาณกว่า 1,000 ราย
ทั้งนี้ ในส่วนของโรงพยาบาล หรือหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ดำเนินการจัดให้มีรถพยาบาลหรือหากโรงพยาบาลไม่สามารถนำรถมารับผู้ป่วย สามารถใช้รถอาสาสมัคร รถมูลนิธิ ที่มีความแข็งแรง ปลอดภัย โดยโรงพยาบาลเป็นผู้เบิกค่ารับส่งต่อกับ สปสช.ได้เช่นเดียวกัน โดยอัตราการจ่ายค่าพาหนะรับส่งต่อผู้ป่วย ระยะทางไปกลับ ไม่เกิน 50 กิโลเมตร จ่ายชดเชยตามจริงไม่เกิน 500 บาท, ระยะทางไปกลับ มากกว่า 50 กิโลเมตร จ่ายชดเชยเริ่มต้น 500 บาท และจ่ายชดเชยเพิ่มกิโลเมตรละ 4 บาท นอกจากนี้ยังมีค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) รวมทั้งค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อพาหนะ โดยจ่ายตามจริงไม่เกิน 3,700 บาทต่อครั้งที่มีการรับส่งต่อผู้ป่วย
ข่าวจาก : มติชน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ