‘เภสัชชนบท’ ขอหน่วยงานเร่งผลิต ‘ฟาวิพิราเวียร์’ หมุนเวียนในระบบวันละ 1 ล้านเม็ดใน ส.ค.นี้ ช่วยประชาชนเร่งด่วน
เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม เภสัชกรสุภนัย ประเสริฐสุข ประธานชมรมเภสัชชนบท ลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม และ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ อย. ขอให้เร่งการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) เพื่อใช้อย่างเพียงพอในประเทศไทย
ใจความสำคัญคือ ด้วยสถานการณ์การใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในหน้างานของหน่วยบริการต่างๆ ทั่วประเทศมีความตึงตัวในการบริหารยา มีลักษณะสัปดาห์ชนสัปดาห์ ไม่มีใช้ได้อย่างเพียงพอ ขณะที่ข้อมูลจากอาสาสมัครที่ช่วยงานเครือข่ายต่างๆ ในกลุ่มผู้ป่วยที่กักตัวที่บ้าน ปรากฏว่ามีผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับยาจำนวนมาก บางรายเสียชีวิตเพราะไม่สามารถเข้าถึงยาฟาวิพิราเวียร์ได้
ข้อมูลจากพื้นที่และผู้ป่วยได้สะท้อนว่า การได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ที่รวดเร็วตามคำสั่งใช้ยาจากแพทย์ ช่วยทำให้ชะลอการเสียชีวิต และเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยได้ชัดเจน
ชมรมเภสัชชนบทเห็นถึงความจำเป็นเร่งด้วน และทราบว่าพวกท่านเหล่านี้สามารถช่วยประชาชนให้เข้าถึงยาฟาวิพิราเวียร์ได้อย่างเพียงพอทั่วถึงและเท่าเทียม จึงขอเรียกร้องให้ อภ. กองทัพบก และ อย. ร่วมกันดำเนินการเร่งด่วน ภายในเดือนสิงหาคม 2564 ดังนี้
1.ขอให้ อย. โดยกองควบคุมยา ในขั้นตอนการประกันคุณภาพยา Validation Batch จำนวน 3 รุ่นติดต่อกัน ก่อนใช้ผลิตจริงนั้น ขอให้ปรับขั้นตอนรอพิจารณาผลรายงานจากโรงงานผลิตยาของ อภ.จึงจะอนุญาตให้กระจายสู่ท้องตลาดได้ มาเป็นดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกันได้
2.ขอให้ อภ.เร่งรัดกระบวนการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ แทนการนำเข้าจากต่างประเทศ
– ขอให้ อภ.ร่วมกับกองทัพบก โดยโรงงานเภสัชกรรมทหาร ผลิตยาฟาวิพิราเวียร์สำหรับผู้ป่วยใน กทม.และปริมณฑล เป็นกรณีเร่งด่วนเฉพาะ
– ให้โรงงานผลิตยาในไทยที่มีศักยภาพ ช่วยผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ให้ อภ. เพื่อให้มียากระจายสู่หน่วยบริการและประชาชนได้อย่างน้อยเดือนละ 30 ล้านเม็ด หรือประมาณ 1 ล้านเม็ดต่อวัน
– ขอให้ อภ.ยังคงการผลิตยาที่ผลิตแต่เพียงผู้เดียว เช่น ยาสำหรับผู้ป่วยเอชไอวี ซึ่งเป็นยาผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้อย่างต่อเนื่อง กรณี อภ.ยืนยันจะผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ด้วยศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ และเลือกหยุด หรือชะลอการผลิตบางรายการแทน
ข่าวจาก : มติชน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ