ด่านหน้าโวยแหลก เงื่อนไขได้ไฟเซอร์ยุบยับ ด่านหน้าจะรับต้องฉีดซิโนแวคก่อน





ด่านหน้าโวยแหลก แฉเงื่อนไขได้ไฟเซอร์ของบุคลากรทางการแพทย์ ยุบยับไปหมด มีบุคลากร 5 แบบที่ไม่ได้ไฟเซอร์ ทั้งที่เป็นของบริจาคมา ชี้ ไม่ว่าด่านหน้าจะเป็นใครต้องได้ไฟเซอร์ จะเริ่มเข็ม 1 หรือเข็ม 2 หรือเข็ม 3 ก็ตาม !

หลังจากที่วัคซีนไฟเซอร์ ถูกส่งมาถึงประเทศไทยตั้งแต่ช่วงเช้าวานนี้ (30 กรกฎาคม 2564) จำนวน 1.5 ล้านโดสจากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งหลังจากนี้จะมีการจัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์และบุคคลอื่น ๆ ตามสัดส่วนต่อไป

ล่าสุด วันที่ 31 กรกฎาคม 2564 นายวิทยา โพธิ์หลวง หัวหน้าหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ (EMS) มีการโพสต์เฟซบุ๊ก Wittaya Pholoung ถึงมติการประชุมคณะทำงานด้านการบริหารจัดการการให้บริการวัคซีน ไฟเซอร์ของเมื่อวานนี้ พบว่า ในรายละเอียดมีการระบุชัดเจนถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่จะไม่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ มี 5 เงื่อนไข ดังนี้

– คนที่ได้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าครบ 2 เข็ม

– คนที่ได้รับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นเข็มที่ 3 แล้ว

– คนที่ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวค 1 เข็ม และแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม

– คนที่ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวคหรือแอสตร้าเซนเนก้ามาเพียง 1 เข็ม

– คนที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด อื่น ๆ

จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้นายวิทยาค่อนข้างโกรธมาก เพราะเป็นการกำหนดเงื่อนไขการฉีดวัคซีนที่เยอะเกินไป อีกทั้งตอนนี้ไทยเจอโควิดสายพันธุ์อินเดีย (เดลตา) เกือบจะ 100% แล้ว จึงต้องขอตั้งคำถามกรมควบคุมโรคว่า

1. การฉีดซิโนแวค 1 เข็ม และแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม สามารถป้องกันเดลต้าได้กี่เปอร์เซ็นต์ ขอผลการศึกษาในวิจัยที่เชื่อถือได้

2. คนที่ฉีดซิโนแวคไป 1 เข็ม มีภูมิคุ้มกันเดลตา ?

3. คนที่ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าไป 1 เข็ม มีภูมิคุ้มกันเดลตา ?

4. คนที่ไม่ได้ฉีดอะไรเลยมีภูมิคุ้มกันเดลตา ?

5. คนที่ไม่ได้ทำงานแผนกดังกล่าว ไม่มีความเสี่ยงหรือ คิดว่าคนเหล่านี้สักวันไม่ต้องหมุนมาช่วยดูแลผู้ป่วยโควิดหรือ ?

คนใน 5 กลุ่มนี้คือกลุ่มคนที่พวกคุณใช้งานเขาหนักมาก แทบไม่ได้พัก ไม่ได้เจอครอบครัว และกลุ่มนี้ก็เป็นกลุ่มที่มีการรายงานติดเชื้อและเสียชีวิต บางคนไม่ได้ฉีดวัคซีน 2 ตัวนั้นเพราะตั้งครรภ์ อยากถามว่า ทำไม 5 กลุ่มนี้คุณถึงไม่ให้เขาฉีดวัคซีนไฟเซอร์ที่บริจาคมา โดยที่คุณก็ไม่ได้ซื้อมาเองด้วยซ้ำ

“หรือนี่คือการลงโทษข้อหาที่เขาไม่ศรัทธาในซิโนแวคหรือแอสตร้าเซนเนก้าของคุณ ? จิตใจพวกคุณในห้องประชุมนั้นทำด้วยอะไรกัน”

แล้วเงื่อนไขบุคลากรที่จะได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เป็นอย่างไร

– บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานในแผนกผู้ป่วยโควิด 19

– ต้องมีฐานข้อมูลในระบบว่าได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม อย่างน้อย 4 สัปดาห์ และยังไม่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นเข็มกระตุ้น

– วัคซีนไฟเซอร์จัดสรรเพื่อเป็นเข็มกระตุ้นเท่านั้น ไม่มีเริ่มเข็ม 1

เสียงสะท้อนจากคอมเมนต์

โพสต์นี้มีการแชร์ออกไปจำนวนมาก พร้อมวิจารณ์ในเชิงเห็นด้วยกับนายวิทยาที่ว่า เป็นการตั้งเงื่อนไขการรับวัคซีนที่ยุ่งยากเกินไป ทั้งที่บุคลากรทางการแพทย์ควรได้หมดทุกคน เพราะทุกคนมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อกันหมด และไม่ควรให้วัคซีนตัวนี้เป็นแค่เข็มกระตุ้น แต่ควรเป็นเข็มหลักด้วย เพราะถ้าบุคลากรทางการแพทย์ล่ม สาธารณสุขไทยก็ล่มด้วย แล้วสถานการณ์จะแย่กว่านี้

 

ข่าวจาก : kapook

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: