คุกไม่ได้มีไว้ขังเฉพาะคนจน! ‘เมทินี ชโลธร’ประธานศาลฎีกา เผยความในใจผู้กำกับดูแลผู้ต้องหา-จำเลย ลดเหลื่อมล้ำ กระทำผิดซ้ำ ดูแลสังคม ขณะที่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ย้ำการตั้งผู้กำกับดูแลยังไม่มีใครหลบหนี สามารถกลับตัวเป็นพลเมืองดีจำนวนมาก
เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา กล่าวถึงการดำเนินงานของศาลยุติธรรมที่นำวิธีการกำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราว มาใช้แทนการเรียกหลักประกันตั้งเเต่ช่วงปี 2561 ว่า การปล่อยชั่วคราวหรือการประกันตัวเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิด ซึ่งต้องถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ กฎหมายบัญญัติให้ศาลพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวโดยต้องอนุญาตให้ประกันตัวเป็นหลัก การไม่อนุญาตให้ประกันตัวเป็นข้อยกเว้นซึ่งต้องมีเหตุที่จะไม่อนุญาตตามกฎหมาย
ในการพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวของศาลที่ผ่านมา แม้จะปรากฏว่ามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวกว่าร้อยละ 90 ของคำร้องที่ยื่นขอ แต่การอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวดังกล่าวมักเรียกเงินสด ทรัพย์สิน หรือบุคคลเป็นหลักประกัน เพื่อเหนี่ยวรั้งมิให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนี ส่งผลให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ไม่มีทรัพย์สินเพียงพอต้องถูกจองจำในระหว่างการพิจารณาคดี แม้ว่าศาลจะกำหนดมาตรฐานระยะเวลาในการพิจารณาคดีที่จำเลยถูกคุมขังให้แล้วเสร็จไปโดยเร็ว แต่การถูกคุมขังเพียงเพราะไม่มีทรัพย์สินมาประกันตัวนั้นย่อมก่อให้เกิดเหลื่อมล้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ศาลยุติธรรมจึงนำเครื่องมือและวิธีการต่างๆ มาใช้ในการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแทนการเรียกหลักประกันเพื่อขยายโอกาสในการปล่อยชั่วคราวให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) การทำสัญญาประกันโดยไม่เรียกหลักประกัน และการวางเงื่อนไขต่างๆ ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยปฏิบัติตามในระหว่างการปล่อยชั่วคราวโดยตั้งผู้กำกับดูแลให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลย
ทั้งนี้ การตั้งผู้กำกับดูแลเป็นมาตรการสำคัญที่ทำให้ภาคสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมในการดูแลความปลอดภัยของสังคมร่วมกัน นับตั้งแต่ศาลตั้งผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวเรื่อยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 พบว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่อยู่ในกำกับดูแลหลบหนีน้อยกว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยที่วางหลักประกันต่อศาล อีกทั้งผู้ต้องหาหรือจำเลยหลายคนสามารถกลับตัวเป็นคนดีได้จากการกำกับดูแล
ขณะที่ นางบุศรา เกิดวิชัย พฤกษมาศ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ผู้กำกับดูแลที่ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งทุกคนมีความยินดี กระตือรือร้นและให้ความร่วมมือในการปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างดี สามารถทำหน้าที่สอดส่องดูแลและรับรายงานตัวได้ตรงตามเวลาที่ศาลกำหนดและรายงานยืนยันการปฏิบัติหน้าที่ให้ศาลทราบทางระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบ real time ทุกครั้ง ทั้งมีข้อมูลรายงานจากผู้กำกับดูแลเพื่อทำหน้าที่รับรายงานตัว สอดส่องดูแล และผู้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาว่า ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้กำกับดูแลสามารถเข้าไปดูแล ให้คำแนะนำได้อย่างใกล้ชิด จากสถิติของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยายังไม่ปรากฎว่ามีผู้ถูกปล่อยชั่วคราวในคดีที่ศาลตั้งผู้กำกับดูหลบหนีหรือไปก่อภัยอันตรายหรือความเสียหายในระหว่างที่ได้รับการปล่อยชั่วคราว ทำให้ผู้พิพากษามีความมั่นใจในการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยนำเงื่อนไขในการตั้งผู้กำกับดูแลมาใช้เพื่อให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนที่ไม่สมควรต้องถูกขังได้รับโอกาสในการปล่อยชั่วคราว ปัจจุบันศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีผู้แสดงความประสงค์เป็นผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวมากกว่า 1,500 คน โดยท่านก็อาจเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมด้วยการทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวโดยคำสั่งศาลได้ เพื่อช่วยกันลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นและรักษาความสงบสุขของสังคม
ข่าวจาก : แนวหน้า
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ