เปิดเว็บใส่รหัสไปรษณีย์ก็เจอจุดตรวจโควิด เผยชุด ATK ผ่าน อย.แล้ว 19 ยี่ห้อ





ศบค.ทำเว็บไซต์ ค้นหาสถานที่ตรวจโควิดใกล้บ้านทั่วทั้งประเทศ ใส่แค่รหัสไปรษณีย์ แนะให้โทร.เช็กก่อน บางแห่งอาจต้องนัดล่วงหน้า ชุดตรวจ ATK ผ่าน อย.แล้ว 19 ยี่ห้อ

วันที่ 5 ส.ค.64 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) กล่าวถึงการตรวจโควิด 19 ว่า สถานที่ตรวจโควิดทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน หลายคนพบปัญหาเมื่อวอล์กอินเข้าไป ไม่รับตรวจหรือบางที่ปิดตรวจแล้ว ศบค.ร่วมกับทีมอาสา Tech For Thailand รวบรวมสถานที่ตรวจโควิดที่ยังเปิดบริการ

โดยเข้าไปที่เว็บไซต์ koncovid.com ค้นหาสถานที่ตรวจโควิดทั่วทั้งประเทศ และเน้นที่ กทม.

วิธีค้น หากต้องการค้นหาที่ตรวจใกล้บ้านให้พิมพ์รหัสไปรษณีย์เข้าไป สถานที่ตรวจจะปรากฏขึ้นมา หรือกดไปที่จุดสีบนหน้าจอ จะแสดงรายละเอียดข้อมูลจุดตรวจ เช่น จุดสีแดงแสดงจุดที่เป็นแล็บที่ตรวจได้ แต่อาจปิดไปแล้ว หรือบางแห่งเป็นศูนย์งานวิจัย สีเขียวเป็นโรงพยาบาลภาครัฐ แต่ละสีไปศึกษารายละเอียดได้

แม้โรงพยาบาลเหล่านี้จะมีศักยภาพตรวจได้ แต่ภาระที่จะต้องตรวจ เช่น คัดกรองผู้ป่วยผ่าตัด คลอดลูก ไอซียู แต่ละโรงพยาบาลจำเป็นต้องตรวจเกิน 300 รายต่อวัน บางแห่งที่โทร.ไปจึงปฏิเสธเพราะรับตรวจไม่ได้จริงๆ เพราะภาระหน้างานที่ทำอยู่ หลายแห่งก็รับเป็นวอร์ดผู้ป่วยโควิด ทำ Home Isolation Community Isolation ด้วย

“ดังนั้น ขอให้ประชาชนโทรศัพท์ถามก่อนเสมอ เพราะข้อมูลนี้พยายามอัพเดตที่สุดแล้ว แต่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง บางแล็บอาจจะให้ติดต่อล่วงหน้าทางโทรศัพท์หรือไลน์ บางแห่งตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท บางแห่งตรวจ RT PCR หรือรับเฉพาะไปตรวจในโรงงาน ซึ่งจะมีค่าใช้จ่าย

หากแล็บเอกชนหรือคลินิกที่รับตรวจ แต่ดูแล้วไม่ปรากฏสถานบริการหรือต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูล ขอให้ติดต่อเข้ามาที่เบอร์เดียวกันกับสำนักงานเขต 50 จุด และขออภัยหากข้อมูลไม่ครบถ้วน จะพยายามพัฒนาให้ดีขึ้น” พญ.อภิสมัย กล่าว

นอกจากนี้ กทม.ยังมีจุดตรวจเชิงรุกด้วย เช่น วันที่ 5 ส.ค.มีที่ลานกีฬาพัฒน์ 2 เขตราชเทวี โรงเรียนเคหะทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ สามารถดูได้ที่เฟซบุ๊กเพจ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์

ทั้งนี้ ชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท ด้วยตัวเองผ่าน อย.แล้ว 19 ยี่ห้อ ซื้อได้เฉพาะในร้ายขายยาหรือสถานพยาบาล ยังไม่อนุญาตขายร้านสะดวกซื้อ และห้ามขายทางออนไลน์ ต้องเลือกชุดตรวจให้ถูกต้อง โดยการตรวจด้วยตนเองจะเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูก

หากเป็นชุดตรวจใช้โดยบุคลากรทางการแทพย์ จะเก็บตัวอย่างจากหลังโพรงจมูกที่มีความยุ่งยากกว่า ดูการสาธิตวิธีเก็บตัวอย่างจากคลิปวิดีโอในเว็บไซต์กรมวิทยาศาสตร์การแทพย์ นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้อบรมการตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท ในโรงงาน มากกว่าพันคน และจะอบรมเพิ่มเติม ส่วน สปสช.จัดหางบประมาณอนุมัติชุดตรวจ 8.5 ล้านชุด

พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่า คนที่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อคือ กลุ่มที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) คือ มีไข้ 37.3 องศาเซลเซียส อาจมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ ขอให้ตรวจทุกราย เพราะบางช่วงกลุ่มนี้ตรวจพบสูง 25% กลุ่มมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อยืนยัน มีประวัติเดินทางจากพื้นที่เสี่ยง มีอาชีพหรือกิจกรรมเสี่ยง เช่น ทำงานโรงงาน แคมป์ก่อสร้าง พนักงานขับรถ ค้าขายในตลาด พนักงานส่งอาหาร เป็นต้น

เพราะพบการเสียชีวิตหลังทราบผลน้อยกว่า 6 วัน สะท้อนว่าคนไข้อาจไม่ได้ตระหนักว่าติดเชื้อ กว่าจะรอจนอาการรุนแรง ทำให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยเฉพาะบางรายไม่มีอาการอาจเป็นผู้ติดเชื้อได้ หรือผู้สูงอายุอาการอาจไม่ชัด คือ ซึม ทานน้อย เหนื่อย โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเตียง หากผลตรวจเป็นลบอาจเป็นลบลวงได้ ถ้าตรวจ ATK เป็นลบ แต่ PCR เป็นบวกพบ 13% จึงขอให้กักตัวและตรวจใหม่ 2-3 วัน เพราะช่วงแรกเชื้ออาจจะน้อย ชุดตรวจอาจไม่ไวพอ

 

ข่าวจาก : ข่าวสด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: