กสร.แจงนายจ้างห้ามหักเงินเยียวยาลูกจ้าง ม.33 จากเงินเดือน ชี้เป็นเงินบรรเทาความเดือดร้อนจากรัฐบาล หากหักเงินมีโทษทั้งจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสน
เมื่อวันที่ 7 ส.ค.64 นางโสภา เกียรตินิรชา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงกรณีข่าวสถานประกอบกิจการแห่งหนึ่ง แจ้งจะหักเงินเยียวยาของรัฐบาลที่ผู้ประกันตนมาตรา 33 สำหรับ 9 กลุ่มกิจการเฉพาะจังหวัดที่กำหนดได้รับ 2,500 บาท
โดยอ้างรัฐบาลช่วยจ่ายเงินเดือนให้แล้ว ว่า รัฐบาลอนุมัติการจ่ายเงินเยียวยาครั้งนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 การกระทำดังกล่าวของนายจ้างถือเป็นการละเมิดสิทธิลูกจ้างที่พึงได้รับ กสร.ได้ตรวจสอบพร้อมชี้แจงข้อเท็จจริง
“เงินเยียวยาที่รัฐบาลจ่ายให้กับผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 คนละ 2,500 บาท เป็นเงินเยียวยาที่รัฐบาลจ่ายให้แก่ลูกจ้าง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกจ้าง ส่วนเงินค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับในแต่ละเดือนเป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายเป็นค่าตอบแทนการทำงานให้กับลูกจ้างที่ทำงานให้ ดังนั้น นายจ้างไม่สามารถนำเงินเยียวยาที่ลูกจ้างได้รับมาหักจากค่าจ้างได้ การหักเช่นนี้ถือเป็นการปฏิบัติไม่สอดคล้องกับ กม.คุ้มครองแรงงาน” นางโสภา กล่าว
นางโสภา กล่าวว่า กสร.ขอเตือนนายจ้างที่คิดจะหักค่าจ้างลูกจ้างที่ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล ไม่ว่าลูกจ้างจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม หากฝ่าฝืนมีความผิดโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ข่าวจาก : ข่าวสด
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ