คปภ. ปลดล็อกให้บริษัทประกันภัยใช้ผล RT-PCR แทนใบรับรองแพทย์ เคลม ประกันโควิด เจอ-จ่าย-จบ ได้
วันที่ 7 สิงหาคม 2564 เฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว รายงานว่า นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) ระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในปัจจุบันมีความรุนแรง มีผู้ป่วยจำนวนมาก ทำให้การพบแพทย์เพื่อเข้าถึงการรักษาพยาบาลและการขอใบรองแพทย์เป็นไปได้ยาก และมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย รวมทั้ง ลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ตลอดจนให้เกิดความชัดเจนในแนวทางปฏิบัติการให้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย COVID–19 แบบเจอ จ่าย จบ ซึ่งมีความล่าช้าในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนในหลาย ๆ กรณี
นายสุทธิพล ระบุว่า ตนในฐานะนายทะเบียนจึงได้ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 45/2564 เรื่อง การใช้เอกสารประกอบการจ่ายผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 สำหรับบริษัทประกันชีวิต และคำสั่งนายทะเบียนที่ 46/2564 เรื่อง การใช้เอกสารประกอบการจ่ายผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย
โดยกำหนดให้บริษัทประกันภัยใช้เอกสารการตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งสามารถยืนยันตัวตนของผู้ที่ได้รับการตรวจหาเชื้อได้ จากห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยวิธี RT-PCR แทนใบรายงานหรือรับรองจากแพทย์
สำหรับการจ่ายผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 กรณีผู้เอาประกันภัยเจ็บป่วยหรือตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นจำนวนเงินที่กำหนดไว้ (แบบเจอ-จ่าย-จบ)
การออกคำสั่งนายทะเบียนทั้งสองฉบับนี้ ได้ดำเนินการโดยใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก กล่าวคือ เริ่มจากการใช้มาตรการขอความร่วมมือไปก่อน แต่ก็ยังพบว่ามีหลายบริษัทประกันภัยที่ยังมีแนวปฏิบัติที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการสับสนและไม่ได้รับความสะดวก ดังนั้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเพื่อให้บริษัทประกันภัยทุกแห่งปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน อันจะเป็นการลดภาระให้กับประชาชนและผู้เอาประกันภัยที่จะต้องใช้หลักฐานแสดงเพื่อเคลมประกันภัย COVID-19 แบบเจอ-จ่าย-จบ ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการทางกฎหมายด้วยการออกคำสั่งนี้
ข่าวจาก : kapook
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ