เจ้าอาวาสวัด แจ้งความ ชวน หลีกภัย – ส.ส. – ส.ว. ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ม.157 ปมไม่มีการออกกฎหมายคุ้มครองพุทธศาสนา ทนไม่ได้เห็นกระทำที่เป็นบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา
วันที่ 8 สิงหาคม 2564 ข่าวช่องวัน รายงานว่า พระครูอมรธรรมทัต เจ้าอาวาสวัดพันอ้น จ.เชียงใหม่ ได้เข้าแจ้งความที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ ให้ดำเนินคดีกับนายชวน หลีกภัย ประธานสภารัฐสภา รวมถึง ส.ส. และ ส.ว. ทุกคน ในความผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เนื่องจากไม่มีการออกกฎหมายคุ้มครองพุทธศาสนาตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 67 ได้บัญญัติไว้
โดย พระครูอมรธรรมทัต กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพบการกระทำต่าง ๆ ที่บ่อนทำลายพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของประชาชนทั่วไปทั้งชาวไทยและต่างชาติ
รวมไปถึงภิกษุสงฆ์เองที่มีพฤติกรรมเสื่อมเสีย ผิดวินัยสงฆ์ ทั้ง ดื่มสุรา เสพเมถุน หรือพฤติกรรมอื่น ๆ ไม่เหมาะสม แม้จะผิดวินัยสงฆ์และมีบทลงโทษที่ชัดเจน แต่การจับสึกถือเป็นที่สิ้นสุด ไม่มีกฏหมายบ้านเมืองดำเนินคดี ซึ่งในอดีตเคยมีพระหลายรูปแจ้งความเกี่ยวกับการหมิ่นพระพุทธศาสนา แต่ตำรวจอ้างว่าดำเนินคดีไม่ได้ เนื่องจากว่าไม่มีกฎหมายลูกมารองรับรัฐธรรมนูญมาตรา 67
เมื่อเห็นปัญหานี้ จึงเริ่มศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ๆ ก่อนที่จะร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้น ภายใต้คำแนะนำของคนในวงการกฏหมาย จนทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้เสร็จสมบูรณ์ โดยชื่อว่า ร่างพระราชบัญญัติอุปถัมป์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 ได้เข้ายื่นหนังสือพร้อมร่างพระราชบัญญัติอุปถัมป์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ……. ให้กับนายชวน หลักภัย ประธานสภารัฐสภา ในฐานะที่เป็นองค์กรพิจารณาออกฎหมายของประเทศ แต่เวลาผ่านมา 1 ปี ไม่มีการนำร่างกฎหมายเข้าพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร
ขณะที่นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรไทยคนที่ 2 มีหนังสือตอบกลับมาเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 ว่าในรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้มีการบัญญัติกฎหมายมาตรา 67 ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ๆ เอาไว้แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องนำร่างกฏหมายคุ้มครองพระพุทธศาสนาของพระครูอมรธรรมทัตเข้าสู่การพิจารณา
พระครูอมรธรรมทัต กล่าวว่า นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงขณะนี่ผ่านมาแล้วกว่า 4 ปี ยังไม่มีกฎหมายลูกออกมาใช้ จึงเห็นว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ที่มีหน้าที่ออกกฏหมาย จึงตัดสินใจแจ้งความดำเนินคดีกับนายชวน รวมถึง ส.ส. และ ส.ว. ในความผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ โดยร่างกฎหมายฉบับนี้ยังครอบคลุมถึงการตรวจสอบความโปร่งใสถูกต้องของการใช้จ่ายเงินของวัดต่าง ๆ และยังมีข้อกำหนดเพื่อคุ้มครองการนำพุทธศาสนาไปเป็นข้ออ้างในการกระทำผิด เช่น การเรี่ยไรเงินโดยไม่มีเหตุจำเป็น การใช้ศาสนสถานในการฉ้อโกงประชาชน และการบิดเบือนหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา เพื่อใช้ในการกระทำผิดกับประชาชนด้วย
ข่าวจาก : kapook
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ