กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยโควิดสายพันธุ์เดลต้า แพร่กระจายครบแล้ว 76 จังหวัด เหลือ จ.สุพรรณยังไม่เจอ แต่ไม่ใช่ว่าไม่มี
วันที่ 10 สิงหาคม 2564 นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการตรวจเฝ้าระวังเชื้อไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์ต่างๆ กล่าวว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม – 6 สิงหาคม 2564 ทั่วประเทศมีการตรวจรหัสพันธุกรรมไวรัสโควิด-19 จำนวน 1,632 ราย พบเป็นสายพันธุ์เดลต้า 1,499 ราย คิดเป็น 91.9% สายพันธุ์อัลฟา 129 ราย คิดเป็น 7.9% และสายพันธุ์เบต้า 4 ราย คิดเป็น 0.2% โดยพบในภาคใต้ทั้งหมด
เมื่อพิจารณาเฉพาะพื้นที่ กทม. มีการตรวจ 1,157 ตัวอย่าง พบสายพันธุ์เดลตา 95.4% สายพันธุ์อัลฟาเหลือ 4.6% ส่วนภูมิภาคมีการตรวจ 475 ตัวอย่าง พบสายพันธุ์เดลต้า 83.2% สายพันธุ์อัลฟา 16% และสายพันธุ์เบตา 0.8%
“พูดง่าย ๆ สายพันธุ์เดลต้าพบมากขึ้นและคงเบียดสายพันธุ์อัลฟาเรื่อย ๆ จนสุดท้ายเกือบทุกรายในประเทศ ก็น่าจะเป็นสายพันธุ์เดลต้าเป็นหลัก ซึ่งเมื่อดูจากกราฟ (ด้านล่าง) การตรวจพันธุกรรมในทุกสัปดาห์ สายพันธุ์เดลตาขึ้นทุกสัปดาห์มาค่อนข้างเร็ว และจะเห็นว่า สายพันธุ์เดลต้ามีอำนาจกระจายเร็วและแพร่เชื้อได้ง่าย จึงครอบครองพื้นที่เป็นส่วนใหญ่”
พบ “เดลต้า” ครบ 76 จว. เว้น จ.สุพรรณบุรี ยังไม่เจอ
ขณะที่ การรายงานการกระจายเชื้อสายพันธุ์เดลต้าในกรุงเทพมหานคร และ 75 จังหวัด พบว่า มีเพียง จ.สุพรรณบุรี ที่ยังไม่พบ โดยนายแพทย์ศุภกิจ ระบุว่า เข้าใจว่าอาจจะยังตรวจไม่พบ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ไม่มีสายพันธุ์ดังกล่าว จึงอาจสรุปได้ว่า ขณะนี้พบโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ครบทุกจังหวัดในประเทศไทยแล้ว
สายพันธุ์เบต้า แพร่เชื้อน้อย พบมากในภาคใต้
ส่วนสายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาพบ 4 ราย คือ ภูเก็ต 3 ราย และพัทลุง 1 ราย โดยภาพรวมสายพันธุ์เบต้า 70% อยู่ที่ จ.นราธิวาส ที่เริ่มต้นจากการมีคนเดินทางข้ามมาจากประเทศมาเลเซียและนำสายพันธุ์นี้เข้ามาด้วย สายพันธุ์เบต้าอำนาจแพร่เชื้อไม่มาก ค่อนข้างจำกัดวงที่ภาคใต้
นอกจากนี้ ยังเคยเจอการระบาดของสายพันธุ์เบต้า อยู่นอกพื้นที่ภาคใต้ ที่ จ.บึงกาฬ เมื่อ 2 สัปดาห์ต่่อเนื่องกัน จำนวน 5 ราย ซึ่งขณะนี้ได้ยุติไปแล้ว ส่วน 3 ราย จ.สมุทรปราการอยู่ในสเตทควอรันทีน และ กทม. เคยเจอ 1 รายแรก และญาติ 2 ราย ก็จบแล้ว ไม่พบเพิ่มเติม เพราะฉะนั้นกรณีของสายพันธุ์เบต้าไม่น่าเป็นปัญหานอกพื้นที่ชายแดนใต้ แต่ต้องเฝ้าระวังต่อไปจะแพร่กระจายที่อื่นหรือไม่ ซึ่งสามารถตรวจจับได้จากระบบเฝ้าระวัง
“ขอให้ช่วยกัน เพราะอย่างที่ทราบกัน ธรรมชาติสายพันธุ์เดลต้ามีการแพร่กระจายติดเชื้อที่ค่อนข้างง่ายมากกว่าเดิมหลายเท่า ทำให้การแพร่กระจายถึงรวดเร็ว คนไข้เพิ่มหลัก 2 หมื่นรายต่อวัน ด้วยอำนาจแพร่เชื้อที่ง่ายทำให้ติดง่าย ดังนั้น ต้องเคร่งครัดใส่หน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าง อย่ารวมกลุ่ม ให้คนไทยช่วยกัน ไม่มีอะไรดีกว่าที่เราช่วยกันหยุดยั้ง เพราะไวรัสไปเองไม่ได้ ไปกับผู้คน การทำกิจกรรมเสี่ยงทั้งหลาย”
“ถ้าเราหยุดการแพร่เชื้อเร็ว ควบคุมโรคเร็ว โอกาสกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่จะน้อยลง ซึ่งตอนนี้เรายังไม่เจอสายพันธุ์อื่น เช่น แลมบ์ดา โดยมีการเฝ้าระวังคนมาจากต่างประเทศ ทั้งในสเตท ควอรันทีน ชายแดน คลัสเตอร์แปลกๆ หรือคนไข้หนัก” นพ.ศุภกิจกล่าว
ข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ