กรมวิทย์ เผยผลศึกษาภูมิคุ้มกัน ฉีดวัคซีน สูตรผสม ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า ส่วนบูตส์เข็มสามด้วยแอสตร้าฯ ภูมิสูง สู้สายพันธุ์เดลตาได้
วันที่ 19 ส.ค.2564 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงเรื่องภูมิคุ้มกันเมื่อฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อผ่านระบบออนไลน์ ว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้วิจัยวัคซีนสลับชนิดว่าภูมิคุ้มกันขึ้นสูงแค่ไหน
โดยศึกษาในอาสาสมัครทั้งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และศิริราช ทั้งกลุ่มประชสชนและบุคลากรทางการแพทย์ รวม 125 ราย เป็นชาย 61 ราย หญิง 64 ราย อายุ 18-60 ปี อายุเฉลี่ย 40 ปี จากพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ตรวจระดับภูมิคุ้มกัน Quantitative Anti-S RBD ซึ่งเป็นการวัดภูมิคุ้มกันภาพรวมไม่ได้แยกสายพันธุ์ใด
และค่าที่ขึ้นเป็นเฉพาะแล็บของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งหน่วยที่เรียกค่าภูมิคุ้มกันกรณีตรวจภาพรวมเรียกว่า ค่า AU (Arbitrary Unit) โดยการฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ภูมิคุ้มกันสูงขึ้นเป็น 117 ส่วน แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ค่าอยู่ที่ 207 ขณะที่การสลับสูตรซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ภูมิคุ้มกันขึ้นตั้งแต่ 399-1127 เฉลี่ยที่ 716
นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ในช่วงถัดมาไทยมีการฉีดบูสเตอร์โดสให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม พบว่า ส่วนที่ได้รับแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 3 ภูมิคุ้มกันขึ้นเช่นกัน สามารถป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ได้ โดยภูมิคุ้มกันขึ้นเฉลี่ย 1,000 เศษ มากกว่าซิโนแวค 2 เข็มเดิมที่ได้รับ 10 กว่าเท่า แต่ยังไม่มีข้อมูลคนที่บูสเตอร์ด้วยไฟเซอร์ ซึ่งอนาคตต้องมีการตรวจประเมินต่อไป
นอกจากจะมีภูมิขึ้นมากน้อยแค่ไหน คำถามคือ การฉีดสูตรสลับชนิดมีผลข้างเคียงหรือไม่ กรณีฉีดซิโนแวคและแอสตร้าฯ ผลข้างเคียงเป็นแบบแอสตร้าฯ ไม่ได้มีอะไรที่แตกต่างกัน เช่น ใครฉีดแอสตร้าฯ จะมีไข้ ก็มีเช่นกัน โดยติดตาม 2 สัปดาห์เปรียบเทียบกับ 4 สัปดาห์ ผลการติดตามผลข้างเคียงแอสตร้าฯ เข็มสอง คือ มีไข้ร้อยละ 66 ปวดศีรษะ ร้อยละ 33 อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ง่วงซึมร้อยละ 28 ใกล้เคียงกับแอสตร้าฯ 2 เข็ม ดังนั้น สูตรสลับชนิดมีความปลอดภัย
“ข้อมูลดังกล่าวเป็นการตรวจภูมิคุ้มกันภาพรวม ซึ่งมีเทคนิคการตรวจที่ยาก เพราะต้องใช้ห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 สามารถจัดการเชื้อไวรัสเป็นๆ ได้ โดยวิธีนี้เรียกว่า PRNT หรือ Plaque Reduction Neutralization Test ไม่สามารถตรวจได้ในห้องปฏิบัติการทั่วไป หลักการคือ จะใช้น้ำเลือด หรือซีรั่มมาเจือจางลงเรื่อยๆ และเพาะเชื้อไวรัสที่ต้องการทดสอบ และนำมาทดสอบ โดยการเจือจางต้องเจือจางให้ลดหรือกำจัดไวรัสได้ 50% จากนั้นจึงนำมาทดสอบภูมิคุ้มกันในคนที่ได้รับวัคซีน เช่น หากค่าได้ 40 หมายความว่าเราเจือจางได้ 40 เท่า ดังนั้น ตัวเลขยิ่งสูงยิ่งดี ที่สำคัญเราทดสอบกับไวรัสจริง ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีมาตรฐาน” นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า จากการตรวจภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลตา ซึ่งระบาดในไทยแล้วกว่าร้อยละ 90 โดยในกราฟจะแสดงให้เห็นถึงอาสาสมัครแต่ละรายเกิดภูมิคุ้มกันต่อเดลตาอย่างไร โดยค่าภูมิที่ขีดเส้นกำหนดว่า เท่ากับ 10 โดยตั้งไว้ว่า หากเกินเส้นนี้ถือว่าใช้ได้ ต่อสู้ไวรัสได้ ซึ่งยิ่งเกินมากยิ่งดี อย่างไรก็ตาม ภูมิเหล่านี้โดยธรรมชาติจะเริ่มลดลง สำหรับค่าเฉลี่ยสูตรเดิมซิโนแวค 2 เข็ม ค่าเฉลี่ยขึ้นมาประมาณ 24 เศษๆ ซึ่งเกินเส้นจุดตัดมาตรฐาน ถือว่าใช้ได้ในการกำจัดเชื้อไวรัสในหลอดทดลอง
ส่วนการสลับสูตร โดยคนฉีดแอสตร้าฯ เข็มแรก แต่มีอาการข้างเคียงจึงฉีดซิโนแวคเข็มที่ 2 ค่าที่ได้ไม่ได้แตกต่างจากซิโนแวค 2 เข็ม ค่าเฉลี่ยขึ้นมาที่ 25 การสลับสูตรแบบนี้จึงไม่เพิ่มคุณค่ามาก ส่วนกรณีฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็มพบค่าเฉลี่ย 76 หมายความว่าสู้เดลตาได้ขนาดเจือจางไป 76 เท่า ส่วนการสลับสูตรซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าฯ ค่าเฉลี่ย 78 เศษๆ ถือว่าพอๆกันหรือเหนือกว่าแอสตร้าฯ 2 เข็ม
“ภาพรวมสูตรสลับซิโนแวค-แอสตร้าฯ ภูมิขึ้นเช่นกัน ขณะที่ภูมิต่อเดลตาก็ดีมากพอสมควร ดังนั้น การฉีดสูตรดังกล่าวใช้เวลาห่างของ 2 เข็มแค่ 3 สัปดาห์ และนับไปอีก 2 สัปดาห์ภูมิคุ้มกันก็สูงได้เร็วเมื่อเทียบกับการฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็ม
ซึ่งกว่าภูมิจะขึ้นต้องใช้เวลามากกว่า” นพ.ศุภกิจ กล่าวและว่า ส่วนบูสเตอร์อย่างซิโนฟาร์ม ยังมีข้อจำกัดเพราะบูสต์เพียง 14 คน แต่ข้อมูลจะพบว่าการบูสต์ซิโนฟาร์มเฉลี่ย 61 ซึ่งมากกว่าซิโนแวค 2 เข็ม 2.5 เท่า ซึ่งขึ้นไม่มากเพราะเป็นแพลตฟอร์มเชื้อตายเหมือนกัน ขณะที่บูสต์ด้วยแอสตร้าฯ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์จำนวนหนึ่งบูสต์ด้วยแอสตร้าฯ พบว่าสู้กับเดลตาได้ดีมากถึง 271 ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดบูสเตอร์ด้วยแอสตร้าฯ ขอให้มีความมั่นใจ
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า การวิจัยทั้งหมดยังไม่ได้ตอบคำถามว่า 1.ภูมิคุ้มกันที่ขึ้นมาจะอยู่ได้นานแค่ไหน อย่างการบูสต์ด้วยเข็ม 3 ขึ้นมา 11 เท่า อยู่ได้นานแค่ไหน จึงต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ 2.กรณีไฟเซอร์ เพิ่งดำเนินการฉีดก็ต้องรอข้อมูลให้ครบ 2 สัปดาห์
หลังจากนั้นจะหาอาสาสมัครมาศึกษาและเปรียบเทียบอีก สรุป
1.คนที่ได้รับวัคซีนสูตรไขว้ ซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าฯ จะได้ภูมิคุ้มกันที่ดีพอๆ กับแอสตร้าฯ 2 เข็ม แต่ใช้เวลาสั้นลงเพียง 5 สัปดาห์
2.หากสลับสูตรเป็นแอสตร้าฯ เข็มแรก และซิโนแวคเข็ม 2 ไม่แนะนำเพราะค่าภูมิไม่แตกต่างซิโนแวค 2 เข็ม ยกเว้นมีอาการแพ้
3.การฉีดกระตุ้นด้วยแอสตร้าฯ หลังได้รับซิโนแวค 2 เข็ม กระตุ้นภูมิได้ดีมากกับสายพันธุ์เดลตา
4.การฉีดกระตุ้นด้วยซิโนฟาร์มหลังรับซิโนแวค 2 เข็ม ภูมิสูงขึ้น แต่ยังน้อย จำนวนคนศึกษายังน้อย 14 คน อาจต้องมีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่วนกรณีเบตาจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม เพราะจำนวนยังน้อย
เมื่อถามถึงการศึกษาบูสต์ด้วยไฟเซอร์มีขั้นตอนและใช้เวลาดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อไร นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เราเพิ่งบูสต์ด้วยไฟเซอร์ให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าประมาณ 3-4 แสนราย
ขั้นตอนในการศึกษาภูมิคุ้มกันจะมีการคัดเลือกอาสาสมัคร คิดว่าไม่ยาก โดยจะใช้หลักการกระจายกลุ่มอายุหลากหลายเพื่อเป็นตัวแทนในการศึกษาครั้งนี้ และจะศึกษาหลังบูสต์ไป 2 สัปดาห์ จะมีการเจาะเลือดมาตรวจ เพาะกับไวรัสตัวจริงใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ก็จะทราบ คาดว่าจากนี้ไม่น่าเกิน 1 เดือนจะทราบผล
นพ.ศุภกิจ กล่าวถึงการฉีดวิธีใหม่ด้วยการฉีดชั้นผิวหนังว่า จากประสบการณ์คือ ใช้วัคซีนแค่ 25% ก็กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงเหมือนฉีดเข้ากล้าม 100% หากงานวิจัยนี้ยืนยันและมีโอกาสสำเร็จ ก็จะเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการวัคซีนของไทยมาก แต่ก็ต้องรอผลการศึกษาก่อนเพื่อให้ได้หลักฐานเชิงประจักษ์ โดยจะเร่งมือทำเรื่องนี้ต่อไป
ข่าวจาก : ข่าวสด
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ