พระมหาไพรวัลย์ เผยภาพคนปล่อยปลา หอย เพื่อทำบุญข้างวัด แต่สัตว์กลับนอนนิ่ง เหตุไม่ใช่แหล่งที่จะใช้ชีวิตได้ แนะเลือกที่ปล่อยสักนิด ไม่งั้นจากบุญ…อาจได้บาป
กลายเป็นภาพที่สะท้อนถึงความเชื่อเรื่องบุญที่อาจทำร้ายชีวิตของสัตว์ กรณีวันที่ 23 สิงหาคม 2564 พระมหาไพรวัลย์ วรวัณโณ พระนักคิดนักเทศนาแห่งวัดสร้อยทอง โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ เป็นริมท่าน้ำของวัดแห่งหนึ่งซึ่งมีคนปล่อยปลา และหอยลงไปในน้ำเพื่อทำบุญ แต่ปรากฏว่า สัตว์เหล่านั้นปรับตัวกับสภาพน้ำไม่ได้และนอนนิ่งอยู่ตรงจุดนั้น
พระมหาไพรวัลย์ ระบุว่า “จะเป็นจะตายก็เรื่องของมันสิ ฉันปล่อยแล้วฉันได้บุญ ฉันสบายใจ” พร้อมตั้งคำถามให้คิดว่า ทำไมถึงปล่อยปลาไหล สงสารมันเหรอ ? เปล่า ปล่อยแล้วชีวิตฉันจะได้ลื่นไหล ไม่ติดขัด โชติช่วงชัชวาล ทำไมถึงปล่อยหอยขม สงสารมันเหรอ ? เปล่า ปล่อยแล้ว ชีวิตฉันจะได้หายจากความขื่นขมสักที ทิ้งท้ายว่า ปล่อยได้ ไม่ผิด แต่เลือกที่ปล่อยสักนิดนะโยม
ทั้งนี้หลังภาพนี้ถูกแชร์ออกไปมีผู้แสดงความคิดเห็นจำนวนมาก โดยมองว่าการทำบุญที่ดีควรจะนึกถึงด้วยว่าสัตว์ที่ปล่อยไปแล้วจะสามารถใช้ชีวิตได้หรือไม่ ซึ่งแบบนี้อาจจะสร้างบาปเพิ่มมากกว่าได้บุญ ขณะที่บางส่วนวิจารณ์ถึงพฤติกรรมของคนขายสัตว์ให้ปล่อยว่าควรจะแนะนำวิธีการปล่อยที่ถูกต้องด้วย แถมบางที่ยังจงใจให้ปล่อยใกล้ ๆ เพื่อจะได้จับขึ้นมาขายใหม่ ถือเป็นการซ้ำเติมเข้าไปอีก
วิธีปล่อยสัตว์ให้ไม่บาป ทั้ง นก ปลา หอย กบ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เฟซบุ๊ก Mahidol Channel ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องปล่อยสัตว์อย่างไร ไม่ให้บาป โดยมีข้อน่ารู้ดังนี้
นก
– หยุดปล่อย นกที่ถูกจับมักอยู่รวมกันอย่างแออัด ทําให้นกอ่อนแอ หลังโดนปล่อยอาจตายได้
และไม่มีแหล่งหากินในเมือง
เต่าบก
– เหมาะ : อยู่บนบกเท่านั้น
– ไม่เหมาะ : ปล่อยในน้ำ
ปลาไหล
– เหมาะ : แหล่งน้ำที่มีดินโคลนให้ขุดรู เพื่อหลบพัก
– ไม่เหมาะ : แม่น้ำ ลําคลองที่ไหลเชี่ยว หรือน้ำลึก
กบ
– เหมาะ : ที่ชื้นแฉะ มีเนินดิน หรือตลิ่ง กอหญ้าหรือไม้น้ำให้เกาะได้และเป็นที่หลบซ่อนศัตรูทางธรรมชาติเช่น นก งู
– ไม่เหมาะ : แม่น้ำ ลําคลองที่ไหลเชี่ยว ไม่มีที่พัก
หอยขม
– เหมาะ : หนอง บึง น้ำนิ่ง ๆ ที่สะอาด มีดินโคลน ปราศจากสารเคมี และวัชพืช
– ไม่เหมาะ : แม่น้ำที่ไหลเชี่ยว หรือที่มีเรือแล่นผ่าน
ปลาหมอ, ปลาดุก, ปลาช่อน
– เหมาะ : แหล่งน้ำ สะอาด มีที่หลบซ่อน เช่น กอหญ้า
– ไม่เหมาะ : ปล่อยปลาเล็ก อาจเป็นอาหารของปลาใหญ่
เต่าน้ำจืด และตะพาบน้ำ
– เหมาะ : มีตลิ่งหรือเนินดินไว้อาบแดดและพักจากการว่ายน้ำ
– ไม่เหมาะ : น้ำไหลเชี่ยว และไม่มีที่พัก
ปลาสวาย, ปลาบึก, ปลาตะเพียน
– เหมาะ : แม่น้ำ คลองที่มีระดับน้ำลึก และกระแสน้ำแรง มีบริเวณกว้าง
– ไม่เหมาะ : การปล่อยในพื้นที่จํากัด ปลาเล็กอาจเป็นอาหารของปลาใหญ่
ปลาราหู (ปลาซักเกอร์)
– ห้ามปล่อยเด็ดขาด ตัวทําลายระบบนิเวศในแหล่งน้ำธรรมชาติ
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ