ตัวเลขว่างงานไตรมาส2 เด็กจบใหม่เตะฝุ่นเกือบ3แสน จบอาชีวะอัตราว่างงานสูงขึ้น





สภาพัฒน์ฯ เปิดตัวเลขว่างงาน ไตรมาส 2 เด็กจบใหม่เตะฝุ่นเกือบ 3 แสนคน จบระดับอาชีวศึกษามีอัตราการว่างงานสูงขึ้น เผยสาขาที่จ้างงานเพิ่มขึ้น

วันที่ 25 ส.ค.64 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์ฯ หรือ สศช.) เปิดเผยว่าภาวะสังคมไตรมาส 2/2564 พบว่าการว่างงานยังอยู่ในระดับสูงจากผลกระทบของโควิด-19

โดยอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.89% คิดเป็นผู้ว่างงาน 7.3 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นผู้จบการศึกษาใหม่ยังไม่เคยทำงานมาก่อน 2.9 แสนคน เพิ่มขึ้น 10.04% และผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนมี 4.4 แสนคน ลดลง 8.38%

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาระยะเวลาของการว่างงาน พบว่าผู้ว่างงานมีแนวโน้มว่างงานนานขึ้น โดยนานกว่า 12 เดือน มีจำนวน 1.47 แสนคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.2 เท่า โดยผู้จบการศึกษาระดับอาชีวศึกษามีอัตราการว่างงานสูงขึ้นเป็น 3.18% และอุดมศึกษาว่างงาน 3.44% สะท้อนให้เห็นว่าการว่างงานในปัจจุบันอยู่ในกลุ่มแรงงานทักษะสูง

สำหรับการว่างงานในระบบผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีจำนวน 3.1 แสนคน คิดเป็นสัดส่วนต่อผู้ประกันตน 2.8% ลดลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย แต่ยังคงสูงกว่าสถานการณ์ปกติ ขณะที่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยมีจำนวน 32,920 คน เพิ่มขึ้น 4 เท่าจากไตรมาสก่อนที่มีจำนวนเพียง 7,964 คน

“ภาพรวมตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยไตรมาส 2/2564 การจ้างงานเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2% เป็นการจ้างงานภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 2.4% จากการเคลื่อนย้ายเข้าไปทำงานของแรงงานที่ว่างงานและถูกเลิกจ้าง และราคาสินค้าเกษตรที่จูงใจ การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 1.8% แต่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ เนื่องจากการจ้างงานในสาขาการผลิตซึ่งใช้แรงงานเข้มข้นเป็นหลักหดตัว 2.2% และการขายส่ง/ขายปลีกหดตัว 1.4%

ขณะที่ สาขาการผลิตเพื่อการส่งออกมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่น สาขาเครื่องคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง และยานยนต์ ชั่วโมงการทำงาน ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติที่ 41.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 8.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับแรงงานที่ทำงานล่วงเวลามีจำนวน 6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 32.2%

นายดนุชา กล่าวว่าหนี้สินครัวเรือนไตรมาส 1/2564 มีมูลค่า 14.13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.6% จากไตรมาสก่อน คิดเป็นสัดส่วน 90.5% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการเลื่อนและพักชำระหนี้ที่ทำให้ยอดหนี้คงค้างไม่ลดลง

รวมทั้งครัวเรือนที่ไม่ได้รับผลกระทบมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น ประกอบกับคุณภาพสินเชื่อยังต้องเฝ้าระวัง โดยสัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2.92% และด้อยลงเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อที่อยู่อาศัย สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนเริ่มมีปัญหาในการหารายได้หรือสถานะทางการเงินเปราะบางมากขึ้น

นอกจากนี้ จากการสำรวจของสวนดุสิตโพลเรื่อง “พฤติกรรมของคนไทยกับการทำงานที่บ้าน (Work From Home)” ในช่วงเดือนพ.ค.2564 พบว่าคนไทยมีการทำงานที่บ้าน 43% และทำงานทั้งที่บ้านและที่ทำงาน 34% ซึ่งมีข้อดีคือช่วยลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประหยัดค่าเดินทาง และเป็นการให้ความร่วมมือกับภาครัฐ แต่ก็มีข้อเสียที่มีค่าใช้จ่ายที่บ้านเพิ่มขึ้น อุปกรณ์เครื่องมือไม่สะดวก และการสื่อสาร/ติดต่อล่าช้า โดยประเมินว่า 20% ของบริษัทในปัจจุบันมีนโยบายให้พนักงานทำงานที่บ้าน

ข่าวจาก ข่าวสดออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: