เริ่ม 4 ต.ค.ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ม.1-ม.6 สธ.ยันไทยพบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบแค่ 1 ราย แนะ ผปค.ตัดสินใจเลือกเอง
เมื่อวันที่ 17 กันยายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็กวัยเรียนว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็กอายุ 12-17 ปีขึ้นไป จะเน้นกลุ่มเปิดเรียนในเดือนพฤศจิกายน 2564 กลุ่มเป้าหมายจากการประมาณการณ์ 4.5 ล้านคน แต่ขณะนี้ก็ยังมีการสำรวจอยู่ คาดว่าจะฉีดในวันที่ 4 ตุลาคมนี้ ในโรงเรียนในสังกัดภาครัฐและเอกชนหลักๆ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนพระปริยัติธรรม สถาบันการศึกษาปอเนาะ และโรงเรียนประเภทอื่นที่มีคนที่อยู่ในวัย 12-17 ปี
นพ.โสภณกล่าวว่า สธ.และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีประสบการณ์ให้วัคซีนในเด็ก เช่น วัคซีน HPV ซึ่งจะเป็นการให้บริการในโรงเรียน มีการหารือแผนให้บริการวัคซีนมาเป็นระยะ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 ที่มีการประชุม ศบค.ได้เห็นชอบแล้ว โดยมีการออกแบบการจัดการเพื่อให้รวดเร็วต่อการเปิดภาคเรียน ด้วยการฉีดตามลำดับชั้น คือ ม.1- ม.6 หรือเทียบเท่าคือ ปวช. 1-3 โดยกลุ่มนี้จะอยู่ในช่วงอายุ 12-17 ปี ขณะที่เด็ก ม.6 บางคนอาจอายุมากกว่า 17 ปี ก็จะได้รับวัคซีนไฟเซอร์ด้วย
นพ.โสภณกล่าวต่อไปว่า ขณะนี้มีการประสานผ่านไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่มีโรงเรียนในสังกัด โดยใช้กลไกคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะทราบข้อมูลดีอยู่แล้ว ให้โรงเรียนประสานไปยังผู้ปกครองเพื่อให้ทราบแผนงานการฉีดวัคซีนให้กับเด็กนักเรียน มีการกำหนดจุดบริการวัคซีนให้นักเรียน อาจเป็นสถานที่ในโรงเรียน หรือสถานที่ใกล้ๆ แล้วสะดวก สามารถให้บริการทั่วถึงและรวดเร็ว ทั้งนี้ หลังฉีดจะต้องลงข้อมูลในระบบ MOPH immunization center โดยเจ้าของสถานที่จะต้องนัดกับโรงพยาบาลที่จะให้บริการซึ่งจะอยู่ในพื้นที่ ใกล้สถานศึกษา หรือเป็น รพ.ที่สถานศึกษาเตรียมไว้ จะมีทั้ง รพ.รัฐและเอกชน ส่วนกรมควบคุมโรคจะเตรียมวัคซีนไฟเซอร์ อุปกรณ์ฉีด ติดตามจำนวนฉีดและเฝ้าระวังต่อเนื่อง โดยหน่วยพยาบาลก็จะช่วยดูแลสุขภาพของนักเรียน 30 วัน หลังฉีด
นพ.โสภณกล่าวว่า สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ล็อตแรกที่จะเข้ามา คาดว่าจะอยู่ระหว่างวันที่ 29 กันยายนนี้ ทั้งนี้ ทางจังหวัดจะทำการสำรวจความประสงค์รับวัคซีนไฟเซอร์ในนักเรียน เมื่อกรมควบคุมโรคได้รับมาแล้วก็จะวางแผนส่งวัคซีนในเดือนตุลาคม ส่งรายจังหวัด และจะแจ้งจำนวนวัคซีนให้ทราบล่วงหน้ารายสัปดาห์ จากนั้นก็จะนัดนักเรียนเพื่อฉีด ผู้ปกครองต้องมีส่วนร่วมตัดสินใจ โดยต้องมีการให้ข้อมูลข้อดี ข้อเสียของวัคซีน ก่อนกรอกข้อมูลว่ายินยอมหรือไม่ยินยอมให้เด็กฉีดวัคซีน แล้วส่งกลับมายังโรงเรียน ทั้งนี้ เมื่อฉีดแล้วจะมีการลงข้อมูลในฐานข้อมูลของ สธ. มีการติดตามการฉีดและการเฝ้าระวังอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 30 วัน หลังจากนั้น 3-4 สัปดาห์ ก็จะตามมารับเข็มที่ 2 โดยระยะแรก เป็นวัคซีน mRNA ของไฟเซอร์ ส่วนระยะถัดไป อาจจะมีวัคซีนเชื้อตาย เช่น ซิโนแวค หากผู้ปกครองยังไม่อยากให้เด็กฉีดวัคซีน mRNA ก็สามารถรอวัคซีนเชื้อตายได้
“วัคซีน mRNA ทำให้มีโอกาสเกิดอาการข้างเคียงได้คือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ซึ่งข้อมูลในต่างประเทศที่ฉีดในเด็ก พบอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าว 16 ราย ต่อการฉีด 1 ล้านโดส ส่วนของประเทศไทย มีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์มาตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม มีเด็กส่วนหนึ่งที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ตอนนี้ก็ยังมีการเฝ้าระวังอยู่ แต่ว่ามีการตรวจพบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 1 ราย ตอนนี้รักษาหายแล้ว ย้ำว่าภาวะนี้สามารถรักษาได้ โดยเด็กอาจจะมีอาการหายใจไม่อิ่ม เจ็บหน้าอก เป็นต้น ดังนั้น เรื่องนี้ก็ต้องให้ข้อมูลกับผู้ปกครองได้รับทราบเพื่อประกอบการตัดสินใจจะให้เด็กฉีดวัคซีนหรือไม่ด้วย“ นพ.โสภณ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นพ.โสภณกล่าวว่า กรณีการเรียนนอกระบบ หรือเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาก็จะฉีดให้เช่นเดียวกัน โดยกลุ่มนี้ จะมี 2 ส่วน คือคนไม่ได้เรียนเพราะอาจจะมีโรคประจำตัว หรือมีภาวะบางอย่าง สามารถเข้ารับวัคซีนที่ รพ.ตามสิทธิ ได้ ซึ่งหลายจังหวัดก็ได้เริ่มฉีดแล้ว ส่วนเด็กที่ไม่ได้ป่วย หรือเด็กเรียนที่บ้านสามารถขอขึ้นทะเบียนรับวัคซีนกับ รพ.ใกล้บ้านได้ ขอย้ำว่าการฉีดวัคซีนไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ 100% แต่ลดโอกาสในการติดเชื้ออาการรุนแรง ลดการแพร่กระจายเชื้อสู่สมาชิกในครอบครัวที่อาจจะมีผู้สูงอายุอยู่ในบ้าน ซึ่งในครอบครัวใดที่มีเด็กอยู่ด้วยก็จะแนะนำให้ผู้สูงอายุเข้ามารับวัคซีนเช่นเดียวกัน
ข่าวจาก : มติชน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ