ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ แนะวิธีเลือกวัคซีนโควิดในเด็ก ควรพิจารณาจากอะไร ฉีดยี่ห้ออะไรดี หลังฉีดต้องปฏิบัติตัวอย่างไร พบเด็กชายกับเด็กหญิงให้ฉีดไม่เท่ากัน
เป็นเรื่องที่พ่อแม่และผู้ปกครองของเด็ก ๆ กำลังให้ความสำคัญอย่างมาก หลังรัฐบาลออกแผนการฉีดวัคซีนในเด็กกลุ่มอายุ 12-17 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดภาคเรียน โดยจะเริ่มฉีดวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ซึ่งมีทั้งวัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm) หรือวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) จนผู้ปกครองต่างลังเลใจว่าจะฉีดอะไรดี ตามไปดูคำแนะนำที่น่าเชื่อถือเพื่อประกอบการตัดสินใจกันเลย…
เลือกวัคซีนยี่ห้ออะไร พิจารณาจากอะไร
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ออกคำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด 19 สำหรับเด็กและวัยรุ่นตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป (ฉบับที่ 2) วันที่ 7 กันยายน 2564 ให้พิจารณาเลือกฉีดวัคซีนชนิดที่ได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยาแห่งประเทศไทย (อย.) ให้ใช้ในเด็กและวัยรุ่น โดยให้ตรงตามอายุที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้
อีกประการคือ วัคซีนที่ผ่านการพิจารณาด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพ จากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ซึ่งขณะนี้ ณ วันที่ 7 กันยายน 2564 มีวัคซีนโควิด 19 เพียงชนิดเดียว คือ วัคซีนชนิด mRNA ของ Pizer-BioNTech ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน
เด็กและวัยรุ่นอายุ 16 – น้อยกว่า 18 ปี
แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ทุกราย หากไม่มีข้อห้ามในการฉีด ทั้งเด็กที่ปกติแข็งแรงดีและที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคโควิด 19 รุนแรงถึงแก่ชีวิต เพราะเป็นกลุ่มอายุที่กำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีการดำเนินชีวิตใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ ซึ่งมีข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนในเด็กและวัยรุ่นมากเพียงพอ
เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป – น้อยกว่า 16 ปี
แนะนำให้ฉีดวัคซีนในกรณีเป็นผู้ป่วยเด็กกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคเรื้อรัง ซึ่งจะทำให้เกิดโควิด 19 ที่รุนแรง ดังต่อไปนี้…
1. บุคคลที่มีโรคอ้วน ดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หรือมีน้ำหนัก 70 กิโลกรัมขึ้นไป
– ในเด็กอายุ 12-13 ปี น้ำหนัก 80 กิโลกรัมขึ้นไป
– ในเด็กอายุ 13-15 ปี น้ำหนัก 90 กิโลกรัมขึ้นไป
– ในเด็กอายุ 15-18 ปี หรือเด็กอ้วนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากภาวะทางเดินหายใจ อุดกั้น
2. โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งโรคหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง
3. โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง
4. โรคไตวายเรื้อรัง
5. โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
6. โรคเบาหวาน
7. กลุ่มโรคพันธุกรรมรวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า
ต่อมาวันที่ 21 กันยายน 2564 ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ปรับคำแนะนำการฉีดวัคซีนให้เด็กที่ไม่มีความเสี่ยง ดังนี้…
เด็กอายุ 12 – 15 ปี
– เด็กผู้หญิง อายุ 12-15 ปี ทุกคนให้วัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม
– เด็กผู้ชายอายุ 12-15 ปี ที่มีโรงเรื้อรัง 7 กลุ่มเสี่ยง ให้วัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม
– เด็กผู้ชายอายุ 12-15 ปีที่แข็งแรงดี ให้วัคซีนไฟเซอร์ 1 เข็ม
เหตุผลที่ให้เด็กผู้ชายที่แข็งแรงดีฉีด 1 เข็ม เนื่องจากข้อมูลความปลอดภัยของวัคซีนในเด็กผู้ชายยังไม่เพียงพอ จากข้อมูลในต่างประเทศ (US) พบความเสี่ยงการเกิดกล้ามเนื้อหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบในเด็กชายอายุ 12-15 ปี มีจำนวนสูง 162:1 ล้าน ขณะที่ข้อมูลในประเทศไทยมีรายงานว่าอัตราการเกิดประมาณ 1:4 หมื่น ขณะที่เด็กผู้หญิงพบอัตราการเกิดเพียง 9:1 ล้าน หลังการฉีดเข็ม 2
โดยข้อมูลประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์ 1 เข็ม ต่อสายพันธุ์เดลตา พบว่าป้องกันการติดเชื้อได้ 30% และป้องกันการนอนโรงพยาบาลได้ประมาณ 94% ส่วนเรื่องการเปิดโรงเรียน ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ แจ้งว่าการได้รับหรือไม่รับวัคซีนไม่มีผลต่อการให้เด็กเข้าเรียน แต่ขอให้ครูที่โรงเรียนและคนรอบข้าง รวมถึงคนในครอบครัวเด็กรับวัคซีนให้ครบเพื่อป้องกันการติดเชื้อรุนแรง
คำแนะนำหลังการฉีดวัคซีนในเด็ก
ให้งดออกกำลังกายอย่างหนักหรือการทำกิจกรรมอย่างหนักเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หลังจากฉีดวัคซีน เนื่องจากมีรายงานการเกิดผลข้างเคียงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ภายหลังการฉีดวัคซีนชนิด mRNA ซึ่งพบในอัตราที่ต่ำมาก จึงแนะนำให้เด็กและวัยรุ่นทุกราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและวัยรุ่นชายที่ได้รับวัคซีนทั้งโดสที่ 1 และ 2 ควรงดการออกกำลังกาย หรือการทำกิจกรรมอย่างหนักเป็นเวลา 1 สัปดาห์
ช่วงเวลาดังกล่าวนี้ หากเจ็บแน่นหน้าอก หายใจเหนื่อย หรือหายใจไม่อิ่ม ใจสั่น หน้ามืด เป็นลม ควรไปพบแพทย์ โดยแพทย์อาจสงสัยว่ามีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจ หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ควรพิจารณาทำการตรวจค้นเพิ่มเติม
สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 12 – น้อยกว่า 16 ปี ที่สุขภาพแข็งแรงดี และในเด็กอายุน้อยกว่า 12 ปี ซึ่งรวมการฉีดวัคซีนโควิด 19 ชนิดอื่น ๆ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการติดตามผลการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย จะมีคำแนะนำเพิ่มเติมในอนาคตต่อไป
ข่าวจาก : kapook
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ