กอนช. ประกาศฉบับที่ 21 เตือนภาคใต้ เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และ น้ำท่วมฉับพลัน หลังจาก กรมอุตุฯ เผยมีฝนเพิ่มมากขึ้นและตกหนักบางแห่ง
วันที่ 7 ต.ค.2564 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประกาศ กอนช. ฉบับที่ 21/2564 เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ระบุว่า จากการคาดการณ์สภาพอากาศของ กรมอุตุนิยมวิทยา พบว่ามีร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังค่อนข้างแรง ในช่วงวันที่ 6-8 ต.ค.2564 ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่งในภาคใต้ฝั่งตะวันตก
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) มีพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนัก เฝ้าระวังน้ำไหลหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงระหว่างวันที่ 6-10 ต.ค.2564 ดังนี้
1.เฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่ม และน้ำท่วมฉับพลัน ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
2.เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ บริเวณแม่น้ำเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ลำตะเพิน จังหวัดกาญจนบุรี และแม่น้ำตาปี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
3.เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% ของความจุ เสี่ยงน้ำล้นทางระบายน้ำล้น อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่บริเวณท้ายน้ำ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำตะเพิน อ่างเก็บน้ำพุตะเคียน จังหวัดกาญจนบุรี อ่างเก็บน้ำห้วยมะหาด จังหวัดราชบุรี อ่างเก็บน้ำห้วยไทรงาม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อ่างเก็บน้ำคลองหยา และอ่างเก็บน้ำคลองแห้ง จังหวัดกระบี่
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
- 1.ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ
- 2.พิจารณาบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 หรือเกณฑ์ควบคุมสูงสุด (Upper Rule Curve) เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก
- 3.ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วม ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- 4.เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
- 5.ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ และเตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์
ข่าวจาก ข่าวสดออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ