สธ.ยันชุดตรวจ ATK ไม่มีตัวไหนเทพ ชี้ได้ผลลบลวงเกิดจากหลายปัจจัย ขอให้ตรวจซ้ำ แนะตรวจช่วงเวลาที่เหมาะสมคือเริ่มมีอาการไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ
เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2564 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกรณีผลการตรวจ ATK ว่า มีการตั้งข้อสังเกตอัตราการพบเชื้อโควิดค่อนข้างเยอะ บางช่วงพบ 20% นั้น ซึ่งจริงๆ แล้วมาจากการที่ตรวจ ATK แล้วรายงานแต่ผลบวก ไม่ได้รายงานผลลบ ทำให้ไม่มีตัวหาร การพบการติดเชื้อจึงสูงขึ้น และหลายกรณี ATK บวก ก็มาตรวจ RT-PCR การติดเชื้อจึงดูเพิ่มสูงขึ้น จึงคิดว่าตรวจน้อยแล้วเจอเชื้อเข้มข้น ตอนนี้ ATK เจอบวกเฉลี่ยไม่ถึง 10%
ส่วนที่คนพูดถึงการใช้ ATK ตรวจแล้วมีผลลบลวงมาก ตรวจ ATK ไม่เจอ แต่พอไปตรวจด้วย RT-PCR เจอโควิด ขอย้ำว่าการมีผลลบลวงไม่ได้เกิดจากคุณภาพของตัวชุดตรวจ แต่เป็นข้อจำกัดของเครื่องมือ จะเอายี่ห้อไหนไปตรวจก็ได้ผลแบบนั้น เนื่องจาก 1.ตรวจในเวลาที่เร็วเกินไป รับเชื้อเมื่อวานแล้ว 1-2 วันมาตรวจเชื้อยังไม่ทันเพิ่มจำนวนก็ตรวจไม่ได้ บางที RT-PCR ยังตรวจไม่เจอ ดังนั้น ATK ที่มีความไวน้อยกว่าก็จะตรวจไม่เจอได้ 2.เชื้อมีปริมาณน้อยไม่ว่าก่อนหรือหลังติดเชื้อ อย่างติดเชื้อไปแล้วร่างกายกำจัดเชื้อไปมากแล้ว ตรวจ RT-PCR ยังเจอแต่เป็นซากเชื้อ แต่มาตรวจ ATK ก็ไม่เจอ
“ตรงนี้เป็นเหตุว่าตรวจ ATK แล้วเป็นลบ อย่าเพิ่งสรุปว่าไม่ติดเชื้อ 100% อาจไม่ติดเชื้อหรือเชื้อน้อยอยู่ ขอให้ตรวจซ้ำ 3-5 วัน ตรวจบ่อยก็มีโอกาสพบเชื้อได้มาก และการตรวจ RT-PCR ต้องควานเอาเชื้อมาตรวจ แต่ตรวจเองด้วย ATK หลายคนไม่พิถีพิถัน เก็บไม่ถูกวิธี อาจเป็นลบที่ไม่ใช่ลบจริงก็เกิดขึ้นได้เยอะ บางคนอาจแหย่จมูกนิดหน่อยไม่ได้ปั่นแบบที่บอกในคู่มือก็อาจไม่เจอได้ หรือหยดน้ำยาไม่เป็นไปตามเกณฑ์กำหนดก็ผลลบทั้งสิ้น”
“ไม่มีชุดตรวจเทพ ชุดตรวจมารทั้งสิ้น เป็นข้อจำกัดชุดตรวจอยู่แล้ว เราถึงบอกว่าเป็นการคัดกรองเบื้องต้น เพื่อดำเนินการได้เอง ไม่ต้องไปสถานพยาบาล และตรวจซ้ำได้บ่อย ยิ่งตรวจซ้ำเท่าไร เมื่อราคาถูกลงก็ตรวจบ่อยได้ ขอให้เข้าใจตรงกัน”
นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ส่วนการตรวจ ATK เพื่อขึ้นทะเบียนนั้น เป็นอีกกรณีหนึ่ง โดยจะเอาเลือดคนที่มีเชื้อโควิด-19 ทั้งจำนวนเชื้อน้อย เชื้อกลาง และเชื้อมาก ไปทำเหมือนกันในการตรวจ เพื่อพิสูจน์ว่าชุดตรวจมีความไวและความจำเพาะเท่าไร ต่างจากการเอาไปตรวจผู้คนทั่วไป ขอชี้แจงให้เข้าใจอย่าไปสับสน ชุดตรวจที่รัฐบาลแจกไปยังใช้ได้ เอาไปใช้คัดกรองโควิด-19 ได้
ด้านนพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการใช้ชุดตรวจ ATK ให้พบเชื้อ คือ ควรใช้ในตอนที่เริ่มมีอาการไข้ คล้ายหวัด ไอ น้ำมูก เจ็บคอ เพราะจะมีประมาณไวรัสเยอะ โอกาสตรวจ ATK พบช่วงนี้สูง แต่ปัจจุบันเจอว่าใช้ ATK ตรวจพบน้อยลง เพราะรับวัคซีนครบ 2 โดส ร่างกายมีภูมิต้านทาน วัคซีนมีประสิทธิภาพ พอเชื้อเข้ามาน้อยเชื้อถูกกำจัดหมดจึงไม่ค่อยพบ อาการจะน้อยลงไปเรื่อยๆ
ข่าวจาก : ข่าวสด
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ