กรมควบคุมโรค บูสต์คนฉีด ซิโนฟาร์ม ใช้เกณฑ์เดียวกับ ซิโนแวค คาดเริ่มได้เดือนพ.ย.นี้ มอบ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ยื่นข้อมูลพิจารณา
วันที่ 21 ต.ค.2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงผลการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคกรณีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็ม 2 ในเด็กผู้ชาย ว่า คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญและผู้แทนสมาคมวิชาชีพต่าง ๆ เช่น สมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย
คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชีวัคซีนยาหลักแห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล สำนักงานปลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เป็นผู้แทนองค์กรทางการกำหนดนโยบายและแนวทางการฉีดวัคซีนระดับชาติ
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า การประชุมเมื่อวันที่ 20 ต.ค. มีเรื่องการให้วัคซีนไฟเซอร์ในเด็กนักเรียน ซึ่งเริ่มฉีดตั้งแต่ต้น ต.ค. ขณะนี้ผ่านไปแล้ว 2 สัปดาห์ฉีดประมาณ 2 ล้านโดส สิ่งที่คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณามี 2 เรื่อง คือ ประสิทธิภาพและความปลอดภัย ซึ่งพิจารณาแล้วพบว่า วัคซีนไฟเซอร์ที่เอามาฉีดเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ถ้าฉีด 2 เข็มระดับภูมิคุ้มกันเพียงพอต่อสู้สายพันธุ์เดลตาได้เมื่อเทียบกับฉีด 1 เข็มอย่างมีนัยสำคัญ
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ส่วนความปลอดภัยนั้น ข้อกังวลเรื่องภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ กุมารแพทย์โรคหัวใจและผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูลว่า วัคซีนไฟเซอร์มีความเป็นไปได้เกิดผลข้างเคียงการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ 6 ในแสนคน แต่เมื่อเทียบแล้วเด็กติดโควิดมีโอกาสเกิดอาการกลุ่ม MIS-C ที่ทำให้เกิดการอักเสบทั่วร่างและกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมีมากกว่าการฉีดวัคซีนมาก
“การฉีดวัคซีนอาจเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ แต่น้อย และหายเองได้ เทียบประสิทธิภาพและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น อุบัติการณ์เกิดผลข้างเคียงน้อยกว่ามาก คณะอนุฯ จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็ม 2 ในเด็กชายต่อไป ตามหลักการที่กำหนดไว้ คือ ตามความประสงค์ของผู้ปกครองและนักเรียนภายใต้ข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจ
เพื่อคำนึงถึงประโยชน์การป้องกันโรคโควิดเป็นหลัก และความเสี่ยงการรับวัคซีน รวมทั้งแนะนำงดออกกำลังกายหนักหลังรับวัคซีน 7 วัน หากรับวัคซีน 7 วัน แล้วมีอาการใจสั่น เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม หอบหนื่อยให้รีบไปพบแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์จะให้ข้อมูลผู้ปกครองเพื่อตัดสินใจและเฝ้าระวังอย่างเพียงพอ” นพ.โอภาส กล่าว
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เมื่อเทียบกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก แคนาดา อเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ก็ให้วัคซีนเด็ก 12 ปีขึ้นไปแบบประเทศไทย สอดคล้องกับมติและการรับรองให้ฉีดวัคซีนได้ขององค์การอนามัยโลก
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า อีก 2 ประเด็นที่คณะอนุฯ ประชุมคือ 1.องค์การอนามัยโลกแนะนำการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือเข็ม 3 ซึ่งประเทศไทยส่วนใหญ่ฉีดเชื้อตาย คือ ซิโนแวค 2 เข็ม พบว่าฉีดระยะหนึ่งภูมิลดลง การฉีดเข็มกระตุ้นจึงเกิดประโยชน์ โดยเราฉีดต่างชนิดด้วยแอสตร้าเซนเนก้าที่เป็นไวรัลเวคเตอร์ ทั้งนี้ การฉีดปูพื้นหรือ Prime ด้วยเชื้อตาย และฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนอีกชนิดช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันสูงมาก
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า โดยประเทศไทยจะฉีดเข็มกระตุ้นชนิดต่างกันจากปูพื้นตอนต้น เช่น เราฉีดเชื้อตายก่อน จากนั้นตามด้วยไวรัลเวคเตอร์ และ mRNA ไล่เรียงกันไปปรับให้เข้ากับสถานการณ์ตามวัคซีนที่เรามี สอดคล้องกับคำแนะนำองค์การอนามัยโลกซึ่งประเทศไทยทำล่วงหน้าไปแล้ว
นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า และ 2.คำถามเรื่องการฉีดกระตุ้นของซิโนฟาร์ม รอง ผอ.รพ.จุฬาภรณ์มาให้ข้อมูลคณะอนุฯ ว่า ขณะนี้มีคนฉีดซิโนฟาร์ม 2 เข็มไประยะหนึ่งพอสมควร และแนวโน้มการฉีดกระตุ้นจะเป็นอย่างไร โดยคณะอนุฯ มีความเห็นว่า หลักการพิจารณาคนฉีดซิโนฟาร์มซึ่งเป็นเชื้อตายแบบเดียวกับซิโนแวค หลักคิดให้ใช้หลักการเดียวกัน คือ ซิโนแวค ฉีดเข็ม 3 ให้คนฉีด 2 เข็มเกิน 3-4 เดือนขึ้นไป เช่น มี.ค.ฉีดครบ 2 เข็มก็ฉีดกระตุ้นตอน ก.ย.-ต.ค.
“ดังนั้น ซิโนฟาร์มฉีดครบ 2 เข็มช่วงเดือน ก.ค.เป็นต้นไป จะกำหนดฉีดเข็มกระตุ้นประมาณปลาย พ.ย.ถึงต้น ธ.ค.เป็นต้นไป โดยคณะอนุฯ ขอให้ รพ.จุฬาภรณ์ส่งข้อมูลเอกสารหลักฐานที่มีการศึกษาพบว่า จำเป็นต้องฉีดเข็มกระตุ้นเนื่องจากภูมิคุ้มกันลดลงให้คณะอนุฯ ใช้เป็นข้อมูลประกอบก่อนที่จะมีการประกาศให้ประชาชนได้ฉีดต่อไปในวงกว้าง และทางรพ.จุฬาภรณ์ส่งข้อมูลครบถ้วนเมื่อไร คณะอนุฯจะรีบพิจารณาและประกาศฉีดวัคซีนต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าววา สำหรับ พ.ย.คาดว่าจะมีวัคซีนเข้ามา 25 ล้านโดส เป็นแอสตร้าฯ 15 ล้านโดส ไฟเซอร์ 10 ล้านโดส ส่วนซิโนแวคที่เป็นตัวปูพื้นฉีดได้ดี เมื่อฉีดเข็ม 2 ต่างชนิดกันภูมิขึ้นสูงมาก
ขณะนี้วัคซีนเหลือน้อยแล้ว คาดว่าเดือนนี้จะฉีดหมด ท่านที่อยากฉีดเพื่อปูพื้นต้องรีบหน่อย เพราะเดือนถัดไปโอกาสวัคซีนหมดและไม่ได้ฉีดมีสูง อย่างไรก็ตาม เรามีวัคซีนเพียงพอที่จะฉีดเข็ม 1 2 และ 3 ตามเป้าหมาย 100 ล้านโดสที่จะฉีดให้ครบใน พ.ย.-ธ.ค.นี้
เมื่อถามถึงสูตรไขว้แอสตร้าฯ-ไฟเซอร์จะใช้ทางการเมื่อไร นพ.โอภาส กล่าวว่า คณะอนุฯ อนุญาตฉีดได้ แต่รอการประกาศอีกครั้ง เพราะต้องดูปริมาณวัคซีนที่มี ทั้งนี้ สูตรไขว้ต่าง ๆ ที่คณะอนุฯ ให้คำแนะนำทุกสูตรมีประสิทธิภาพดีและปลอดภัยใกล้เคียงกัน ไม่ต้องกังวลว่าฉีดสูตรไหนตัวไหนก่อนหลัง ผู้เชี่ยวชาญและ สธ.พยายามหาสูตรวัคซีนและวัคซีนที่มีมาฉีดประชาชน ส่วนการฉีดบูสเตอร์โดสในปี 2565 ไม่ต้องกังวล นายกฯ เห็นชอบจัดหาไว้ 120 ล้านโดส มีเพียงพอขอให้ไปฉีดตามที่กำหนด
ข่าวจาก : ข่าวสด
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ