น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (ปี 2566-70) ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ โดยมอบให้ สศช. ประสานงานหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะสำนักงานประมาณ เพื่อกำหนดกลไกที่เหมาะสมในการจัดสรรงบประมาณ และให้ สศช. นำความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ มาพิจารณาปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และ ครม. พิจารณาความเหมาะสมต่อไป
สาระสำคัญร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เป็นแผนระดับที่ 2 ซึ่งเป็นกลไกในการถ่ายทอดยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติ โดยระบุทิศทางและเป้าหมายการพัฒนาประเทศที่ควรให้ความสำคัญในระยะ 5 ปี ภายใต้หลักการและแนวคิดสำคัญ คือ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง, แนวคิด ล้มแล้วลุกไวมุ่งเน้นการลดความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลง และการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสเพื่อสร้างการเติบโตที่มีคุณภาพและยั่งยืน, เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ และโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (บีซีจีโมเดล) รวมทั้งคำนึงถึงเงื่อนไขและข้อจำกัดที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วย
ทั้งนี้ ตามแผนกำหนดการพลิกโฉมประเทศไทยสู่สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายหลักที่ต้องการบรรลุผล 5 เรื่อง คือ การปรับโครงการสร้างผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม, การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่, การมุ่งสู่สังคมโอกาสและความเป็นธรรม, การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน และการเสริมสร้างความสามารถของประเทศในการรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทโลกใหม่
ขณะเดียวกันได้กำหนด 13 หมุดหมายของการพัฒนา เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ที่ชัดเจน คือ มิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย ประกอบด้วย 6 หมุดหมาย คือ ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค ไทยเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของอาเซียน
ส่วนมิติโอกาสและความเสมอภาค ทางเศรษฐกิจและสังคม มี 3 หมุดหมาย คือ ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้ ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน และไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลงและคนไทยทุกคน มีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม
ขณะที่ มิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 2 หมุดหมายคือ ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบ จากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
รวมทั้งมิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ ประกอบด้วย 2 หมุดหมายคือ ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต และไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน
ข่าวจาก : ข่าวสด
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ