คลัง แจงปมชะลอเรียกเงินคืน ผู้ทำผิดเงื่อนไข ‘เราชนะ’ ยังเปิดโอกาสให้อุทธรณ์





คลัง แจง ประเด็นข้อเรียกร้องชะลอการเรียกเงินคืน ผู้ทำผิดเงื่อนไข ‘เราชนะ’ เป็นไปตามขั้นตอน ยังเปิดโอกาสให้ส่งเอกสารอุทธรณ์

จาก กรณีที่นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลังประกาศระงับสิทธิ์ และเรียกเงินคืนจากผู้ประกอบการ 2,099 ราย เพราะผิดเงื่อนไขในการร่วมโครงการ ‘เราชนะ’ ว่าขอเรียกร้องไปยังกระทรวงการคลัง ให้ชะลอการเรียกเงินคืนจากกลุ่มผู้ประกอบการดังกล่าว เพราะรายละเอียดในข้อกล่าวหายังไม่ชัดเจนเพียงพอ มีเพียงการระบุพบลักษณะธุรกรรมผิดเงื่อนไข คือรับสแกนแล้วแลกเป็นเงินสด แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีประชาชนไปร้องเรียนว่าถูกกินหัวคิวจากผู้ประกอบการร้านค้า เพราะอาจเต็มใจที่จะได้เงินสด นอกจากนี้ ในการเปิดโอกาสให้ร้านค้าแสดงหลักฐานชี้แจง กรรมการผู้ตรวจก็เป็นคนของ สศค. อีกทั้งเงื่อนไขต่าง ๆ ก่อนเข้าร่วมโครงการก็ไม่ได้ชี้นำให้รับรู้หลักเกณฑ์ได้อย่างชัดเจน

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ประเด็นข้อเรียกร้องชะลอการเรียกเงินคืน จากกลุ่มผู้ประกอบการที่ทำผิดเงื่อนไขโครงการเราชนะนั้น โครงการเราชนะ (โครงการฯ) มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือด้วยการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน และมีส่วนช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ระลอกใหม่ โดยในการเข้าร่วมโครงการฯ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้จัดทำหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และความยินยอม (หลักเกณฑ์ฯ) สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนที่เข้าร่วมโครงการฯ เผยแพร่หลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าวในเว็บไซต์เราชนะ (www.เราชนะ.com) เพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนที่จะเข้าร่วมโครงการฯ ได้รับทราบและเข้าใจหลักเกณฑ์ฯ ในการเข้าร่วมโครงการฯ และจะต้องให้ความยินยอมที่จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าวก่อนเข้าร่วมโครงการฯ

ทั้งนี้ เมื่อประชาชนและผู้ประกอบการได้ให้คำยินยอมที่จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการฯ ในขั้นตอนการสมัครแล้ว ประชาชนจะได้รับวงเงินสิทธิช่วยเหลือจำนวนไม่เกิน 9,000 บาท ตลอดโครงการ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และบัตรประจำตัวประชาชน และสามารถใช้สิทธิเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการที่มีการซื้อขายหรือรับบริการกันจริงผ่านแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” หรือเครื่องรูดบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (เครื่อง EDC) ของผู้ประกอบการร้านค้าที่ได้สมัครและให้คำยินยอมในการเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 1.3 ล้านราย ซึ่งกระทรวงการคลังจะได้โอนเงินให้ผู้ประกอบการโดยตรงในวันถัดไปตามยอดธุรกรรมการใช้จ่าย

สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชนและออกแถลงข่าวกระทรวงการคลังขอความร่วมมือให้ประชาชนและผู้ประกอบการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการฯ มาโดยตลอด เพื่อควบคุมและป้องกันการกระทำผิดวัตถุประสงค์ของโครงการฯ เช่น การรับแลกวงเงินสิทธิเป็นเงินสด เป็นต้น นอกจากนี้ ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปแจ้งเบาะแสการกระทำที่ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการฯ โดยมีประชาชนแจ้งเบาะแสให้ทราบมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อสำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้รับการแจ้งเบาะแสหรือตรวจพบความผิดปกติของธุรกรรมที่เข้าข่ายฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการฯ จะดำเนินการระงับสิทธิชั่วคราวการใช้แอพพลิเคชัน “ถุงเงิน” เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับภาครัฐ

และแจ้งให้ผู้ประกอบการติดต่อกลับเพื่อชี้แจงโต้แจ้ง ภายใน 14 วัน ซึ่งเมื่อครบกำหนดแล้ว จะได้นำเอกสารชี้แจงโต้แย้งของผู้ประกอบการเข้าสู่การพิจารณาตามกระบวนการในการตรวจสอบการดำเนินการที่เข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการฯ ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาตรวจสอบข้อมูลและเรื่องร้องเรียนสำหรับโครงการเราชนะ ที่มีองค์ประกอบคณะทำงานฯ จากหน่วยงานภายนอก เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และกรมบัญชีกลาง เพื่อตรวจสอบ พิจารณา และวินิจฉัยข้อมูลของผู้เข้าร่วมโครงการฯ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับโครงการฯ ให้เป็นไปด้วยความรอบคอบ

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและขยายผลการสืบสวนสอบสวนเพื่อดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมายเมื่อคณะทำงานฯ ได้ติดตามตรวจสอบและพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ประกอบการกระทำการฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าวจริง หรือกรณีที่ผู้ประกอบการไม่ชี้แจงโต้แย้งพร้อมส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องภายในระยะเวลาที่กำหนด จะมีหนังสือประทับตราแจ้งผลวินิจฉัยและขอให้ชำระเงินคืนให้แก่โครงการฯ และผู้ประกอบการสามารถอุทธรณ์ได้ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือประทับตรา

ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนดังกล่าวนี้ ที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้ออกหนังสือประทับตราแจ้งผู้ประกอบการ จำนวน 2,099 ราย เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 ทั้งนี้ เมื่อพ้นกำหนดเวลาอุทธรณ์แล้ว กรณีไม่มีการชี้แจงหรือไม่ส่งข้อมูลหลักฐานประกอบการอุทธรณ์ หรือไม่มีการชำระเงินคืนให้แก่โครงการฯ รวมถึงกรณีอุทธรณ์มาแต่คณะทำงานฯ พิจารณาแล้วเห็นว่ายังมีพฤติกรรมฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการฯ ก็จะมีหนังสือแจ้งผู้ประกอบการอีกครั้ง ดังนั้น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง จึงขอประชาสัมพันธ์แจ้งให้ผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้ส่งหนังสืออุทธรณ์ ขอให้เร่งดำเนินการส่งคำอุทธรณ์หรือข้อมูลหลักฐานชี้แจงให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เพื่อนำสู่กระบวนการพิจารณาของคณะทำงานฯ และกระบวนการเรียกร้องตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: