สัปดาห์นี้ พณ.เปิดจุดขายหมู130บาท/โล นาน 1 เดือน ส.เลี้ยงสุกรชี้ปัจจัยเยอะ ราคาสูงขึ้นต่อ
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน(คน.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้จะเริ่มจัดโครงการหมูราคาถูกกว่าท้องตลาด เพื่อลดภาระประชาชนและผู้ค้าจากราคาเนื้อหมูปรับราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยกำหนดจุดจำหน่ายเนื้อหมูชำแหละไม่เกิน 130 บาทต่อกิโลกรัมหน้ากระทรวงพาณิชย์ หน้าที่ทำการพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ประมาณ 400 จุด รวมถึงวางจำหน่ายในรถโมบายสินค้าอุปโภคบริโภคที่กระทรวงได้จัดทำอยู่ขณะนี้ โดยกำหนดจัดจำหน่ายต่อเนื่อง 1 เดือน หรือเริ่มกลางเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนธันวาคม 2564 ทั้งนี้ จากการหารือสมาคมผู้เลี้ยงสุกร และผู้ผลิตรายใหญ่ ได้ให้ความร่วมมือในการจัดส่งเนื้อหมูป้อนโครงการนี้ รวมทั้งห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ให้ความร่วมมือในการตรึงราคาเนื้อหมูต่อเนื่อง สำหรับปัญหาราคาปาล์มเพื่อการบริโภคสูงขึ้น นั้น จากที่ออกตรวจสอบราคาขายปลีกปาล์มขวดตามห้าง พบว่า ราคาอยู่ระหว่าง 51-54 บาทต่อขวด(ลิตร) เชื่อว่าราคาปาล์มขวดไม่น่าจะขยับจากนี้ เพราะมีการแข่งขันจากน้ำมันพืชจากผลิตจากถั่วเหลืองออกสู่ตลาดและมีราคาอ่อนตัวลง
นายวัฒนศักย์ กล่าวถึงความกังวลต่อการปรับราคาอาหารปรุงสำเร็จ(จานด่วน) นั้น อยู่ระหว่างการประชุมหารือกับตลาดสดและร้านอาหารธงฟ้าในเครือข่ายกรมการค้าภายใน จัดทำเมนูราคาพิเศษ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน และไม่กระทบต่อร้านค้าเอง รวมถึงขอความร่วมมือค้าปลีกและร้านค้าทั่วไป ในการตรึงราคาอาหารยอดนิยมและเมนูราคาพิเศษ คาดว่าจะมีความคืบหน้าภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ พร้อมกันนี้ กำลังหารือผู้ผลิตและผู้ประกอบการค้าปลีก ในการจัดมหกรรมลดราคาสินค้าเพื่อลดภาระค่าครองชีพประชาชนและจัดหาสินค้าในราคาย่อมเยาเพื่อฉลองในช่วงเทศกาลปีใหม่
นายสัตวแพทย์ วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า สมาคมฯและฟาร์มเลี้ยงสุกร ให้ความร่วมมือการช่วยเหลือเกษตรกรแก้ปัญหาราคาข้าวตกและลดภาระประชาชนในการบริโภคเนื้อหมูราคาลดลง โดยการป้อนเนื้อหมูเข้าจุดจำหน่ายหมูราคาถูกของกระทรวงพาณิชย์ ส่วนปริมาณนั้นไม่อาจระบุได้ว่าเท่าไหร่ โดยที่ผ่านมากานเข้าร่วมจัดหาเนื้อหมูป้อนโครงการหมูราคาถูกให้กรมการค้าภายใน แต่ละจุดก็ประมาณ 500-1,000 กิโลกรัมต่อวันในพื้นที่ต่างจังหวัด ส่วนในกรุงเทพฯจะเริ่มที่ 800 กิโลกรัมต่อวัน
นายสัตวแพทย์ วิวัฒน์ กล่าวถึงทิศทางราคาเนื้อหมูก่อนเข้าเทศกาลปีใหม่ ว่า แม้มีการนำหมูราคาถูกออกจำหน่าย แต่เชื่อว่าแนวโน้มราคาเนื้อหมูจะไม่อ่อนตัวไปกว่านี้ และมีทิศทางสูงขึ้นได้อีก เนื่องจากผลกระทบต่อเนื่องจาก 3 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์การผลิตที่ในบางพื้นที่พบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกา( ASF) และโรคเพิร์ส (PRRS) จนฟาร์มเลี้ยงหมูเสียหาย พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ลดลง จากนั้นเจอสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการปิดประเทศทำให้การบริโภคลดลง จนทำให้ผู้เลี้ยงเจอภาระขาดทุน และต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นจากอาหารสัตว์และราคาน้ำมันแพง ซ้ำเติมอีก ทำให้บางรายลดปริมาณเลี้ยงหรือบางรายเลิกกิจการ
” จากปัญหาสะสมมานานเกือบ 3 ปีทำให้ผลผลิตสุกรมีชีวิตเหลือประมาณ 4 หมื่นตัวต่อวัน หรือผลิตได้ไม่เกิน 16 ล้านตัวจากผลผลิตในอดีตเกิน 200 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการบริโภคปกติอยู่ที่ 5 หมื่นตัวต่อวัน ซึ่งในช่วงเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ไม่มีนักท่องเที่ยว ไม่มีกิจกรรม กำลังซื้อถดถอย ผลผลิต4 หมื่นตัวต่อวันจึงไม่ได้ตรึงตัว แต่เมื่อรัฐทยอยลดมาตรการและเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวในวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้นทันที แต่ผลผลิตเพิ่มไม่ได้ทันท่วงที ตามกลไกตลาดราคาจึงสูงขึ้น แม้รัฐขอความร่วมมือตรึงราคาแต่ก็ทำได้เพียงระยะสั้น เพราะต้นทุนเลี้ยงสูงขึ้น ตอนนี้ราคาแนะนำสุกรมีชีวิตอยู่ที่ 84 บาทต่อกิโลกรัม เพราะต้นทุนอยู่ที่ 80 บาท แต่ในแต่ละภาคราคาจำหน่ายก็ไม่เท่ากัน ขึ้นกับปัจจัยเรื่องต้นทุนเลี้ยงและขนส่ง อย่างภาคเหนือและใต้อาจสูงถึง 84 บาท ตะวันออกอยู่ที่ 82 บาท กรุงเทพอยู่ที่ 80 บาท ภาคอีสานเหลือ 76-77 บาท เฉลี่ยทั่วประเทศก็จะอยู่ที่ 80 บาท ถือเป็นราคาเหมะสมตามกลไกตลาด เทียบราคาหมูชำแหละเฉลี่ยก็ประมาณ 160-170 บาทต่อกิโลกรัม ” นายสัตวแพทย์ วิวัฒน์ กล่าว
นายสัตวแพทย์ วิวัฒน์ กล่าวว่า ส่วนราคาข้าวเปลือก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาหารเลี้ยงสุกร หากเกิดความร่วมมือในการดูดซับข้าวเปลือกในสต๊อกรัฐและสต็อกจากชาวนา จะส่งผลทางจิตวิทยาในการดันราคาข้าวเปลือกสูงขึ้น ซึ่งผู้เลี้ยงสุกรโดยรวมมีความต้องการข้าวเปลือกเพื่อนำมาสีแปรเป็นข้าวกล้องผสมอาหารเลี้ยงสัตว์ ไม่น้อยกว่า 1 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งการจะดันราคาข้าวให้สูงขึ้น การป้อนเข้าฟาร์มเลี้ยงหมูหรือเลี้ยงสัตว์ จะเป็นอีกทางหนึ่งช่วยดูดซับผลผลิตและราคาข้าวให้สูงขึ้น ซึ่งขณะนี้กำลังหารือระหว่างผู้เลี้ยงสุกร โรงสี และกระทรวงพาณิชย์ในการกำหนดราคากลางข้าวเปลือกที่ป้อนผู้เลี้ยงสุกร คาดว่าจะได้ความชัดเจนภายในกลางเดือนพฤศจิกายนนี้
ข่าวจาก : มติชน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ